​ส่งออกปี 67 จบสวย ธ.ค.โต 8.7% ทั้งปีทะลุเป้า บวก 5.4% มูลค่า 10.5 ล้านล้าน

img

ส่งออก ธ.ค.67 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.7% บวกต่อเนื่อง 6 เดือนติด รวมทั้งปี 300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.4% โตทะลุเป้า คิดเป็นเงินบาท 10.5 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาด ม.ค. ยังโตต่อ ทั้งปี 68 ตั้งเป้า 2-3% ได้แรงหนุนเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยลด มีการย้ายฐานลงทุนมาไทย จับตาทรัมป์ 2.0 ภูมิรัฐศาสตร์ อัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวป่วน เผย “พิชัย” เตรียมบินสหรัฐฯ ก.พ.นี้ หาทางแก้ปัญหาการค้ากับสหรัฐฯ
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.2567 มีมูลค่า 24,765.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.7% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 853,305 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,776.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 863,930 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 10.6 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,625 ล้านบาท รวมทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 300,529.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.4% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,548,759 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้า มูลค่า 306,809.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,896,480 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,280.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 347,721 ล้านบาท
         
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 8.9% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 10.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 6.7% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ข้าว และน้ำตาลทราย ทั้งนี้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 6%
         
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 11.1% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด  ทั้งนี้ ปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.9%
         


ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัว ตลาดหลัก เพิ่ม 12% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 17.5% จีน เพิ่ม 15% ญี่ปุ่น เพิ่ม 0.6% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 19.1% CLMV เพิ่ม 20.7% ส่วนอาเซียน (5) ลด 0.6% ตลาดรอง เพิ่ม 6.2% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 44.5% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 11.3% แอฟริกา เพิ่ม 8.7% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 12.3% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 37% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 37.4% ส่วนทวีปออสเตรเลีย ลด 15.5% และตลาดอื่น ๆ ลด 65.3%
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน ม.ค.2568 คาดว่าจะยังคงส่งออกได้ดี และจะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่อง ส่วนทั้งปี 2568 ยังคงยืนเป้าหมายเดิมที่ 2-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก

ทั้งนี้ มีปัจจัยท้าทายต่อการส่งออก คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อยาวนาน และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในส่วนของนโยบายทรัมป์ 2.0 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเตรียมการรับมือร่วมกับภาคเอกชน และมีแผนที่จัดคณะผู้บริหารเดินทางไปสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ.2568 เพื่อหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องความร่วมมือการค้า การลงทุน ภาษีนำเข้า และการหาทางป้องกันไม่ให้ไทยได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทย โดยขณะนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน เพื่อนำไปหารือกับสหรัฐฯ ว่า ไทยจะดำเนินการแก้ไขอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ก็คือ การซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม อาทิ ถั่วเหลือง เป็นต้น

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง