​ปีนี้ปีทองผลไม้

img

ดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปีนี้ น่าจะเป็น “ปีทอง” ของ “ผลไม้ไทย” อีกปีหนึ่ง
         
คำดังกล่าว ไม่น่าจะ “เกินความจริง” เพราะนับตั้งแต่ “ผลผลิตผลไม้” เริ่มออกสู่ตลาด ก็ยังไม่มีปัญหาในเรื่อง “ราคาตกต่ำ

ทั้ง ๆ ที่ปีนี้ ประเมินว่า “ผลผลิตผลไม้” จะมีปริมาณมากถึง 5.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11%

ผลผลิตคร่าว ๆ แยกเป็น “ทุเรียน” ปริมาณ 1.48 ล้านตัน เพิ่ม 26.26% “มังคุด” ปริมาณ 3.88 แสนตัน เพิ่ม 43.30% “ลำไย” ปริมาณ 1.69 ล้านตัน เพิ่ม 8.4% “เงาะ” ปริมาณ 3 แสนตัน เพิ่ม 5.99% “ลิ้นจี่” ปริมาณ 3.7 หมื่นตัน เพิ่ม 4% “ลองกอง” ปริมาณ 7.7 หมื่นตัน เพิ่ม 1% และ “มะม่วง” ปริมาณ 1.44 ล้านตัน เพิ่ม 5.24%
         
ผลผลิตผลไม้ทั้งหมด เป็นการบริโภคในประเทศ สัดส่วน 30% และส่งออกไปขายต่างประเทศ สัดส่วน 70%
         
ตลาดในประเทศ” ขายผ่านห้าง ตลาด รถเร่ ร้านอาหาร และแปรรูป
         
ตลาดต่างประเทศ” ส่งออกไปจีนมากที่สุด ตามด้วย สหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม และมาเลเซีย
         
เมื่อลองไปตรวจสอบ ทำไม “ราคาผลไม้ต้นฤดู” ถึงไม่มีปัญหา พบว่า “มาตรการดูแลผลไม้ปี 2565” ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่รับผิดชอบ กำลังอยู่ในช่วงการ “เดินตามแผน

เป็นการเดินตามแผนที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้จัดทำมาตรการเอาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา คือ มาตรการ 17+1 โดยจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาตรการเปิดด่านเพิ่มขึ้นมาเป็นมาตรการที่ 18   
         
ผลการดำเนินการเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม มีแผน “ระบายผลไม้” ตามมาตรการ 17+1 ปริมาณ 2.44 แสนตัน เตรียม “สต๊อก” สำหรับทำผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 1.2 แสนตัน และระบายผลไม้ผ่านการจัดงาน “พาณิชย์ Fruit Festival 2022” อีก 1.45 แสนตัน
         


โดยงานพาณิชย์ Fruit Festival 2022 เป็นงานล่าสุด จัดขึ้นที่ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 2-8 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา และยังมีการเปิดจุดจำหน่ายทั่วประเทศอีก 10,092 จุด ประกอบด้วยห้างโมเดิร์นเทรด ร้านค้าปลีก-ส่ง ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น โดยเป็นจุดในกรุงเทพฯ และรถเร่ 500 จุด ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด
         
ปรากฏว่า ได้รับการ “ตอบรับ” จากผู้บริโภคเป็นอย่างดี มีการเข้าไปเลือกซื้อผลไม้กันอย่าง “คึกคัก” โดยเฉพาะทุเรียน
         
สำหรับตลาดต่างประเทศ นายจุรินทร์ก็มี “แผนรองรับ” โดยเฉพาะตลาด “จีน” ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่ไทยส่งออกถึง 90% ของการส่งออกผลไม้ทั้งหมด
         
มีการเตรียมมาตรการ “ขนส่งผลไม้” รองรับ แยกเป็น “การขนส่งทางเรือ” ปริมาณ 3.9 แสนตัน คิดเป็น 83% ของการขนส่งทั้งหมด ผ่าน 5 สายเรือ คือ Cosco SITC หยางหมิง Maersk และ Wanhai โดยขึ้นที่ท่าเรือเซอโข่ว 26.5% ท่าเรือหนานซา 20% ฮ่องกง 20% จ้านเจียน 13.5% ซินโจว 13.5 เซี่ยเหมิน 6.5%

การขนส่งทางอากาศ” ปริมาณ 3.6 หมื่นตัน คิดเป็น 6.5% เตรียมไว้ 3 ท่าอากาศยานของจีน คือ 1.กว่างโจว 80% 2.เซินเจิ้น 13% 3.คุณหมิง 7% โดย 4 สายการบิน คือ 1.การบินไทย 2.ไทยไลออนแอร์ 3.แอร์เอเชียเอ็กซ์ 4.ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์

ที่เหลืออีก 10.5% เป็น “การขนส่งทางบก” ไปสู่ 4 ด่านของจีน คือ โม่ฮาน โหย่วอี้กวาน ตงซิง และผิงเสียง มีเงื่อนไขการทำงาน คือ ถ้าด่านใดประสบปัญหาปิดด่าน ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตร และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่เร่งรัดเจรจากับจีนให้เปิดด่านโดยเร็วที่สุด



เป็นการ “ปรับแผน” จาก 2564 ที่ใช้เส้นทางเรือ 52% ทางบก 48% และทางอากาศไม่ถึง 1%

พร้อมกันนี้ นายจุรินทร์ยังได้จัดตั้ง “วอร์รูม” เพื่อติดตาม มี “อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” เป็นประธาน มีตัวแทนภาคเอกชน ทั้งผู้ส่งออก ล้ง เกษตรกร และสมาคมโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นคณะทำงาน ติดตามสถานการณ์ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หากมีปัญหา จะได้เร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้เตรียมดำเนินมาตรการอื่น ๆ เช่น การจัดงาน “Thai Fruits Golden Months” จำนวน 8 ครั้ง ใน 8 เมืองหลักของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว หนานหนิง เฉิงตู เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน หนานชาง และคุนหมิง การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย ร่วมกับผู้นำเข้า ห้างสรรพสินค้า และช่องทางออนไลน์ในประเทศต่าง ๆ  

ที่เด็ดสุด จะเป็นการจัดกิจกรรมในช่วงการจัดงาน THAIFEX-Anuga Asia 2022 วันที่ 24-28 พ.ค.2565

งานนี้ แว่ว ๆ มาว่า จะมีการร่วมมือกับ “แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง” จัด “ไลฟ์สด” ขายผลไม้ไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออกผลไม้ในปีนี้
         
นายจุรินทร์ บอกว่า ผลจากการเตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้า ได้ส่งผลดีต่อราคาผลไม้ของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่าง “ทุเรียน” ตอนนี้กิโลกรัม (กก.) ละ 190-200 บาท หน้าสวน กก.ละ 150 บาทในบางพื้นที่
         
ส่วน “เงาะ” และ “มังคุด” ที่กำลังเริ่มออก และจะออกในระยะต่อไป ก็มั่นใจว่า ราคาจะดี เพราะมีแผนรองรับไว้แล้วเช่นเดียวกัน ทั้งการกระจายเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก
         
เห็นแบบนี้แล้ว ดีใจกับชาวสวนผลไม้  
         
เพราะถ้าไม่มี “ปัญหา” หรือ “วิกฤต” อะไรมาซ้ำเติม
         
ปีนี้ น่าจะเป็น “ปีทอง” อีกปีหนึ่ง
  
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง