“ทีมพาณิชย์” ทุ่มกำลังดูแลผลไม้

img

ปีนี้ ผลผลิต “ผลไม้” ทั่วประเทศ ตามที่ “กระทรวงพาณิชย์” ได้รวบรวมมา พบว่า มีปริมาณมากถึง 6.765 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2% หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมาปริมาณ 1.1 แสนตัน
         
แยกเป็น “ทุเรียน” 1.526 ล้านตัน เพิ่ม 3% “มังคุด” 2.81 แสนตัน เพิ่ม 4% “ลำไย” 1.506 ล้านตัน เพิ่ม 6% “เงาะ” 2.26 แสนตัน เพิ่ม 5% "สับปะรด" 1.38 ล้านตัน เพิ่ม 10% ส่วน “ลองกอง” 5.7 หมื่นตัน ลด 11% “ลิ้นจี่” 3 หมื่นตัน ลด 26% “มะม่วง” 1.32 ล้านตัน ลด 2% “ส้มเขียวหวาน” 3.04 แสนตัน ลด 21% และ “ส้มโอ” 1.35 แสนตัน ลด 27%
         
นับตั้งแต่ เดือน เม.ย.2567 เป็นต้นไป ถือว่า ได้ฤกษ์ “เปิดฤดูผลไม้” อย่างเป็นทางการแล้ว
         
เดินตลาด แวะห้าง ก็จะเห็นผลไม้หลากหลายวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง และผลไม้อื่น ๆ  มีให้ “เลือกซื้อ-เลือกหา” มาบริโภค
         
ส่วนมาตรการดูแลผลไม้ เพื่อดูแลราคาให้กับเกษตร “นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เตรียม “มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567" ไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อย ตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออก มีทั้งสิ้น 6 มาตรการ 25 แผนงาน
         
ตอนนี้ ทุกมาตรการ พร้อมดำเนินการ ทั้งด้านการผลิต การตลาดในประเทศ การตลาดต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการค้า อำนวยความสะดวกการค้า และมาตรการด้านกฎหมาย
         
ล่าสุด 2 รัฐมนตรีพาณิชย์ “นายภูมิธรรม” และ “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้แท็กทีมไปหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการค้า อำนวยความสะดวกการค้า ด้วยการเดินสายไปตรวจสอบ “ด่านการค้า” ที่ผลไม้ไทยจะผ่านด่านจาก “ประเทศเพื่อนบ้าน” เข้าสู่ “ตลาดจีน” ด้วยตนเอง เพื่อดูปัญหา รับฟังปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหา  
         


เริ่มด้วย วันที่ 24-27 เม.ย.2567 นายนภินทร เดินทางไปสำรวจ “ด่านสากลหูหงิ” ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่รถขนส่งผลไม้จากไทยมาใช้บริการก่อนที่จะเข้าสู่ “ด่านโหย่วอี้กวน” ของจีน และ “ด่านรถไฟด่งดัง” ซึ่งเป็นด่านที่เชื่อมต่อไปยัง “ด่านรถไฟผิงเสียง” ของจีน  
         
ผลการติดตาม ด่านสากลหูหงิ เริ่มมีความคับคั่ง ส่วนด่านรถไฟด่งดัง ยังเป็นปกติ แต่คาดว่า จะเริ่มมีความหนาแน่น เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้

ช่วงลงพื้นที่ นายนภินทร ได้สั่งการให้ให้ “ทูตพาณิชย์ฮานอย” ประสานและติดตามปริมาณรถขนส่งผลไม้ที่ผ่านด่านออกจากไทยในแต่ละวัน และช่วยประสานด่านของเวียดนามให้รับทราบ รวมถึงติดตามสถานการณ์การขนส่ง การผ่านด่าน การเปิดปิดด่าน หากมีปัญหาให้รีบแก้ไขในทันที
         
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ยังมีแผน “แจ้งเตือน” ผู้ส่งออกถึงสถานการณ์การขนส่งสินค้าผ่านด่าน ไม่ว่าจะเป็นด่านสากลหูหงิ ด่านรถไฟด่งดัง ในเวียดนาม และด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง ของจีน ว่ามีความคับคั่งมากน้อยแค่ไหน เพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะส่งสินค้ามาในช่วงนั้น ๆ หรือไม่ หากต้องติดขัด 4-5 วัน ก็จะทำให้ผลไม้เสื่อมคุณภาพลง รวมทั้ง จะเสนอทางเลือกในการส่งออกผลไม้ผ่านทางเรือ ที่ถือว่ามีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง ที่จะออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังจีน ได้ทั้งท่าเรือกวางโจว ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเสินเจิ้น และท่าเรือฮ่องกง
         
ต่อมา วันที่ 27-29 เม.ย.2567 นายภูมิธรรม ได้เดินทางไปสำรวจ “ด่านบ่อเต็น” สปป.ลาว และ “ด่านโม่ฮาน” ของจีน โดยได้เจรจาให้ด่านบ่อเต็น และโม่ฮาน เพิ่มระยะเวลาการทำงาน จากเปิดปิดปกติ 08.00-18.00 น. เพิ่มเป็น 08.00-21.00 น. เพิ่มเวลาทำการอีก 3 ชั่วโมง เพื่อลด “ความแออัด” ของรถบรรทุกบริเวณหน้าด่าน ซึ่งจะช่วยระบายรถขนส่งผลไม้ และช่วยให้รถที่รอเข้าคิวผ่านด่าน ผ่านด่านได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอนาน เพราะที่ผ่านมา เคยประสบปัญหาติดขัดบางครั้งใช้เวลาถึง 5 วัน
         


การผนึกกำลังของ 2 รัฐมนตรีพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งใน “การทำงานเชิงรุก” ที่มีเป้าหมายอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกผลไม้ของไทย และยังเป็นการ “เตรียมการล่วงหน้า” รองรับผลผลิตผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด
         
ทั้งนี้ จากปริมาณผลผลิตผลไม้ทั้งหมด 6.765 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 1.29 ล้านตัน สัดส่วน 26% และส่งออก 5.01 ล้านตัน สัดส่วน 74%
         
ดูแล้ว เรื่องการส่งออก ที่ตลาดใหญ่สุดของ “ผลไม้สด” คือ จีน มีสัดส่วนการส่งออกถึง 91% ไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว เพราะได้มีการ “เปิดทางสะดวก” ให้แล้ว
         
ส่วนการบริโภคในประเทศ ที่ผลผลิตส่วนใหญ่จะบริโภคแบบสด และอีกส่วนนำไปแปรรูป ซึ่งก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะได้มีมาตรการดูแลไว้แล้วเช่นเดียวกัน 
         
ตอนนี้ “กรมการค้าภายใน” ได้ทำการ “มอนิเตอร์” อย่างใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์ทุกวัน “พื้นที่ไหน จุดไหน” มีปัญหา ก็จะส่ง “ม้าเร็ว” เข้าไปดูแลทันที  
         
สำหรับการดูแลด้านการตลาด เพื่อเร่งระบายผลผลิต มีการประสานผู้ประกอบการ ผู้รวบรวบ โรงงาน ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างท้องถิ่น สถานีบริการน้ำมัน เข้าไปรับซื้อถึงที่
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมี “โมบายธงฟ้า” ที่จะเป็นจุดระบายผลผลิต และมีแผนประสาน “คอนโดมิเนียม-หมู่บ้าน” ให้เป็นจุดกระจายผลไม้ด้วย หลังจากปีที่ผ่านมา ทำแล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
         
ขณะเดียวกัน ได้เข้าไปกำกับดูแลการซื้อขาย คุมเข้มเรื่องตาชั่ง การปิดป้ายแสดงราคาซื้อขาย กำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นธรรม หากพบการ “กระทำผิด” จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด
         
ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ “ทีมพาณิชย์” ได้ดำเนินการเพื่อดูแลผลไม้ ปี 2567
         
เห็นภาพ “การทำงานเป็นทีม” ที่สอดประสานกัน ทำงานไปพร้อม ๆ กันแบบนี้แล้ว
         
เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้” น่าจะเบาใจได้   
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด