เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้ลงพื้นที่ “ถนนสายทองคำ” ย่านเยาวราช
การเดินทางไปครั้งนี้ ได้ผนึกกำลังกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กรมการค้าภายใน และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
เพื่อไปตรวจสอบสถานการณ์การค้า การจำหน่ายทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ หลังจากราคาทองขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายหนึ่ง เพื่อสร้าง “ความเชื่อมั่น” ในการซื้อขายทองคำ และอีกเป้าหมายหนึ่งเพื่อ “เตือนภัย” การซื้อขายที่จะต้องระวัง “ทองปลอม” เพราะมี “มิจฉาชีพ-ร้านค้าออนไลน์บางแห่ง” ใช้โอกาสนี้หลอกลวงผู้บริโภค
เท่าที่ตรวจสอบได้ มีทองปลอมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทองเกรด A , ทองไมครอน , ทองโคลนนิ่ง , ทองยัดไส้ และทองรูปพรรณ
โดยมีการนำ “เทคนิคใหม่ ๆ” มาใช้ เพื่อให้ทองคำปลอมมี “ความใกล้เคียง” กับทองคำจริงมากที่สุด และไม่สามารถตรวจสอบได้ “ด้วยตาเปล่า” รวมถึงการใช้เครื่องมือตรวจสอบ “ที่มีขนาดเล็ก” ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้
ยกตัวอย่างเช่น การนำธาตุใหม่ ๆ เข้ามาผสมกับทองคำ เช่น “ธาตุรีเนียม” และ “ทังสเตน” ซึ่งไม่สามารถใช้เทคนิคพื้นฐาน เช่น หยดกรด การเผาไฟ หรือใช้เครื่องมือ X-Ray ขนาดเล็กตรวจวิเคราะห์ได้
“นายนภินทร” กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า ให้คำแนะนำในการตรวจเช็กค่าความบริสุทธิ์ของทองคำ ทั้งทองคำแท่ง และทองรูปพรรณ ดำเนินการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคผ่านมาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพจาก GIT ให้แก่ผู้ที่สนใจก่อนซื้อขาย
พร้อมกับมอบกรมการค้าภายใน ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานทองคำ มาตรฐานเครื่องชั่งทองคำ รวมถึงฉลากสินค้า และการติดราคาทองคำ ทองรูปพรรณ และค่ากำเหน็จอย่างชัดเจน รวมทั้งให้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานรัฐอื่น เช่น สคบ. เพื่อร่วมกันตรวจสอบด้วย
ส่วนการ “ซื้อขายทองคำ” ขอให้ซื้อร้านทองที่มีสถานที่ตั้งชัดเจน มีประกาศราคาทองคำขึ้นลง และสัญลักษณ์ที่ต้องสังเกตทุกครั้ง คือ ป้ายสมาชิกสมาคมค้าทองคำ (ปีปัจจุบัน) หรือซื้อจากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ในโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรอง GIT หรือที่รู้จักในชื่อโครงการ Buy With Confidence (BWC) และหลีกเลี่ยงการซื้อทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง หรือทองคำรูปพรรณ
“นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT” กล่าวว่า นอกเหนือจากการตรวจสอบร้านค้าแล้ว จะต้องตรวจสอบทองคำหรือทองรูปพรรณว่ามีตราสัญลักษณ์ร้านค้าที่เลือกซื้อหรือไม่ มีการประทับตัวเลขที่บอกมาตรฐานความบริสุทธิ์ของทองคำที่ตอกไว้หรือไม่ เช่น Gold 965 และยังต้องสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิ น้ำหนัก ขนาด และรอยต่อต่าง ๆ
สำหรับใครที่ซื้อทองคำไปแล้ว และอยากจะตรวจสอบว่า “จริงหรือปลอม” แนะนำให้นำมาตรวจสอบกับ GIT เพราะเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบที่มีเครื่องมือขั้นสูง สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน โดยสามารถตรวจสอบว่าเป็น “ทองคำแท้” หรือ “ทองคำปลอม” ด้วยคลื่นอัลตราโซนิค ซึ่ง “ไม่ทำลายชิ้นงาน”
ทางด้าน “นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน” กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค กรมได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าทองคำ ต้องปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีกราคาทองคำแท่งทองคำรูปพรรณและค่ากำเหน็จให้ชัดเจน รวมทั้งยังกำหนดให้ร้านค้าทองต้องใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากกรม ตาม พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบราคาก่อนการซื้อขาย และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในเรื่องของน้ำหนัก
ทั้งนี้ ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา มีสถิติที่ “น่าตกใจ” คือ มีการร้องเรียนการหลอกซื้อขาย “ทองคำปลอม” ทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ สูงกว่า 1,600 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มี 122 คดี และปี 2565 ที่มี 200 คดี
ประเมินกันว่า มีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้นอีก” หากผู้บริโภค “ไม่ระมัดระวัง”
เพราะทุกวันนี้ “การปลอมทองคำ” ทำได้เนียนมากถึงมากที่สุด
ปลอมแบบเอาโลหะอื่นมา “ยัดไส้” ปลอมแบบ “ข้อหนึ่งจริง ข้อหนึ่งปลอม”
ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมา “เตือนภัย” แล้ว เราในฐานะ “ผู้บริโภค” ก็ควรฟัง และเพิ่มความ “ระมัดระวัง” ให้มาก
ยิ่งปัจจุบัน ราคาทองคำเป็น “ขาขึ้น”
พลาดไปแล้ว จะเสียหาย
ซีเอ็นเอ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง