FTA เปิดประตูค้าขาย

img

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” มีนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญข้อหนึ่ง คือ การใช้ FTA เป็น “ใบเบิกทาง” เพื่อเปิดตลาด “การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน” ให้กับผู้ประกอบการของไทย
         
สถานการณ์ปัจจุบัน นอกจาก FTA เดิม 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ที่มี “ผลบังคับใช้แล้ว” ไทยยังมี FTA “คงค้างเจรจา” อยู่หลายฉบับ มี FTA ที่จะ “เปิดเจรจาใหม่” อีกหลายฉบับ และ FTA ที่เล็ง ๆ จะเปิดเจรจาตามข้อเสนอของ “ภาคเอกชน” อีกหลายฉบับ
         
และยังมี FTA เดิม ที่จะต้องมีการ “อัปเกรด” ใหม่ทั้งหมด ทั้งในกรอบของอาเซียนเอง และในกรอบของอาเซียนกับคู่เจรจา  
         
ในส่วนของ FTA คงค้าง มีค้างการเจรจากับ “ศรีลังกา ปากีสถาน และตุรกี” ที่มีคืบหน้ามากสุด ก็คือ ตุรกี ซึ่งล่าสุดได้กำหนดนัดประชุม ครั้งที่ 8 ช่วงเดือนมิ.ย.2565 โดยไทยเป็นเจ้าภาพ
         
เป้าหมายการประชุมครั้งนี้ จะเร่งรัดการเจรจาใน “ประเด็นคงค้าง” เช่น การค้าสินค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และประเด็นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ให้ “สำเร็จ” และยัง “ตั้งเป้า” สรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ 
         
สำหรับ FTA ใหม่ที่จะเปิดเจรจา และมีอยู่ในแผนงานแล้ว คือ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา
         
โดย “FTA ไทย-EFTA” ขณะนี้ได้ข้อสรุป “กรอบการเจรจา” แล้ว หลังจากที่ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ได้จัดประชุมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ประชาสังคม และนักวิชาการ

ขั้นตอนดำเนินการ กำลังเสนอกรอบการเจรจาให้นายจุรินทร์พิจารณา เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
         


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” บอกว่า EFTA เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายการทำ FTA ของไทย เพราะมีนโยบายการค้าเสรี มีกำลังซื้อสูง มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นนักลงทุนรายสำคัญ
         
ที่สำคัญ “ผลการศึกษาเบื้องต้น” พบ “ข้อดี” เพียบ ทั้ง การเพิ่ม “แต้มต่อ” และ “โอกาส” การแข่งขันของ “สินค้าและบริการ” ของไทย การดึงดูด “นักลงทุน” จากกลุ่ม EFTA ในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง
         
หาก กนศ. และ ครม. ไฟเขียว ก็จะประสานแจ้งฝ่าย EFTA เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ต่อไป คาดว่า น่าจะประกาศได้ช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) เดือนมิ.ย.2565
         
“FTA ไทย-อียู” ขณะนี้ ฝั่งอียูมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะเจรจา หลังสงกรานต์จะมีการพูดคุยกันอีกครั้ง น่าจะ “เห็นภาพ” ชัดเจนขึ้น
         
FTA ไทย-สหราชอาณาจักร” ตอนนี้มี “คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า” ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการเจรจา FTA และเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 2 ฝ่าย กำลังประชุมเพื่อเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ น่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.2565 ที่ลอนดอน
         
ส่วน “FTA อาเซียน-แคนาดา” ล่าสุดได้ตั้ง “คณะกรรมการเจรจาการค้า” ขึ้นมาแล้ว และยังตั้ง “คณะทำงาน 5 กลุ่ม” ได้แก่ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และกฎหมายและการจัดการเชิงสถาบัน เพื่อเจรจารายละเอียดเป็นรายกลุ่ม โดยอาจมีการตั้งกลุ่มเพิ่ม หากมีความจำเป็น

โดยปีนี้ อาเซียน-แคนาดา มีแผนจัดประชุมเจรจากัน 4 ครั้ง เพื่อความ “รวดเร็ว” และตั้งเป้า “สรุปผลการเจรจา” ภายในปี 2566
         


ทางด้าน “การอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม” นางอรมน ให้ข้อมูลความคืบหน้า ว่า ได้มีการหารือกับทุกภาคส่วนเสร็จแล้ว ทำ “กรอบการเจรจา” เสร็จแล้ว กำลังนำเสนอนายจุรินทร์ เพื่อพิจารณาเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กนศ. และ ครม. มีมติเห็นชอบ จากนั้นคณะเจรจาของไทยจะได้ใช้เป็น “ท่าที” การเจรจายกระดับ FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจาต่อไป
         
เหตุผลสำคัญที่ต้องอัปเกรด เพราะ FTA ในกรอบอาเซียน หรือ FTA อาเซียนกับคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็น “จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์” ทำมานานเกิน 10 ปี บางฉบับตั้งแต่ปี 2548 บางฉบับปี 2553

แล้วตอนนี้ “รูปแบบการค้า” เปลี่ยนไปมาก จึงต้องปรับ FTA ให้ทันสมัย ให้สอดรับกับการค้ารูปแบบใหม่ ทั้ง “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน-การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต
           
หรือในกรอบอาเซียนเอง "ความตกลงการค้าสินค้า" ก็ต้องปรับปรุงให้ทันสมัย หรือกับคู่เจรจา ก็ยังเปิดเสรีกันไม่ครบ 100% ก็ต้องทำให้ "เต็ม 100%"
         
สำหรับ “FTA ใหม่ ๆ” ที่อยู่ในเป้าหมาย “ทำการศึกษา” จะเน้นตามข้อเสนอของ “ภาคเอกชน” ที่ต้องการเห็นการทำ FTA กับกลุ่มประเทศ “ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา
         
นางอรมน ย้ำว่า การเจรจา FTA ทั้งที่คงค้าง หรือฉบับใหม่ หรืออัปเกรดฉบับเดิม มี “เป้าหมาย” สำคัญ คือ การสร้าง “โอกาส” ให้กับผู้ประกอบการไทยให้ได้มากที่สุด
         
และยังเป็นการ “ตอบโจทย์” ข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ที่ต้องการให้ใช้ FTA เป็น “ใบเบิกทาง” และ “เปิดประตู” ให้กับการค้า การค้าบริการ และการลงทุนไทย  
         
เห็น “แผนงาน” และ “ไทม์ไลน์” ชัดเจนขนาดนี้ ดีใจแทนผู้ประกอบการไทย ที่จะมีโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ เกิดขึ้น
         
"เป้าหมาย"ชัด "ประโยชน์" ชัด ลุยเลย 

ผู้ประกอบการไทย รอ "ตักตวง" ผลประโยชน์อยู่ 

ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด