​รัฐ-เอกชนผนึกกำลังช่วย “มัน”

img

ตามที่มีการคาดกัน ผลผลิต “มันสำปะหลัง” ปี 2567/68 จะมีปริมาณมากถึง 27.196 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.54% โดยผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา และจะออก “มากที่สุด” ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2568 ซึ่งก็คือ ช่วงนี้
         
ทั้งนี้ คาดว่า ผลผลิตในช่วง 2-3 เดือนนี้ จะออกมากถึง 15.56 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 57.23% ของผลผลิตรวมทั้งหมด
         
ก็อย่างที่ทราบกัน รัฐบาลโดย “กระทรวงพาณิชย์” ได้เสนอ “มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68” ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 และ ครม. ได้อนุมัติตามที่เสนอ จำนวน 4 มาตรการ
         
โดย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง และ 4.โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมัน)  
         
ขณะนี้ ทั้ง 4 มาตรการ อยู่ระหว่างการดำเนินการ
         
แต่ “กระทรวงพาณิชย์” ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ได้มี “มาตรการเสริม” เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร ให้ขายผลผลิตได้ “คุ้มต้นทุน” และ “ผลักดัน” ราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น
         
เริ่มจาก “กรมการค้าภายใน” ผนึกกำลังร่วมกับ “หอการค้าไทย-สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย-สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย” ผลักดันให้ “ภาคปศุสัตว์” และ “ผู้ผลิตอาหารสัตว์” ใช้ “มันเส้น” ในการ “เลี้ยงสัตว์” และทำ “อาหารสัตว์”   
         
วิธีการดำเนินการ ก็คือ ร่วมมือกับสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการคัดเลือกสมาชิกลานมันผู้ผลิตมันเส้นสะอาดกว่า 40 รายทั่วประเทศ ที่สามารถผลิตมันเส้นให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ โดยจะเข้าไปดูแลการซื้อขาย คุณภาพ และราคา เพื่อผลักดันให้มีการใช้มันเส้นเพิ่มมากขึ้น มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2.5 ล้านตันหัวมันสด
         


ผลการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา มีการ “เชื่อมโยง” ผู้เลี้ยงปศุสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ รับซื้อมันเส้นจากเกษตรกรไปแล้วประมาณ 1.6-1.8 ล้านตันหัวมันสด และขณะนี้กำลังซื้อต่อเนื่อง  
         
ส่วนเป้าหมายต่อไป จะผลักดันให้ซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ล้านตันหัวมันสด เพราะการเพิ่มสัดส่วนมันเส้นในการทำอาหารสัตว์ จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าเนื้อสัตว์จากไทย ให้เข้าใจว่ามีการปรับสูตรอาหารสัตว์ก่อน เพราะเนื้อสัตว์ที่ได้จากการปรับสูตรอาหารสัตว์ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่สัตว์กิน  
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ “เปิดจุด” รับซื้อมันสำปะหลังในภาคเหนือ และภาคตะวันตก เป้าหมาย 2-3 แสนตัน โดยจะเน้นในจังหวัดที่ราคาต่ำกว่า 2.20 บาท/กิโลกรัม (กก.)

ทั้งนี้ ราคามันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% เฉลี่ยล่าสุดทั้งประเทศอยู่ที่ 2.28 บาท/กก. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลี่ย 2.40 บาท/กก. ภาคเหนือและภาคตะวันตก เฉลี่ย 2.15 บาท/กก.

ทางด้าน “การหาตลาด” ให้กับมันสำปะหลัง “กรมการค้าต่างประเทศ” ได้นำ “คณะผู้แทนการค้า” ภาครัฐและภาคเอกชน เดินทางไป “ขยายตลาด” ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมขั้นปลายที่มีศักยภาพ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5-9 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา
         
ผลการเดินทาง” ประสบความสำเร็จ “เกินคาด” ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของจีน สนใจมา “เจรจาการค้า” กับผู้ขายมันสำปะหลังของไทยเป็นจำนวนมาก
         
สามารถลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายมันสำปะหลังได้ปริมาณ 440,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,314.95 ล้านบาท ซึ่งจะดูดซับหัวมันสดในประเทศได้กว่า 1.68 ล้านตัน
         
นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจจำนวน 51 ราย เพื่อเปิดตลาดมันเส้นไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในจีน นอกเหนือจากการซื้อไปทำแอลกอฮอล์ อาทิ อาหารสัตว์ กาว กระดาษ โดยได้รับความสนใจจาก บริษัท New Hope Group ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนที่มีเงินทุนจดทะเบียนสูงถึง 340,000 ล้านหยวน เข้าร่วมกิจกรรมเจรจาการค้า และหารือการสร้างโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในจีนเพิ่มขึ้น
         


ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศยังมีแผนหารือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เพื่อผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังของไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแผนที่จะไปเจรจาการค้ากับประเทศเป้าหมายอื่น ๆ ผลักดันให้ซื้อมันเส้นของไทย เพื่อหาตลาดให้กับมันสำปะหลัง และผลักดันให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น
         
ผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาด นอกจาก “ตลาดภายในประเทศ” ที่มีรองรับตามปกติ ทั้งการซื้อไปทำ “มันเส้น-มันอัดเม็ด” ที่จะนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ และเอทานอล และซื้อไปทำ “แป้งมัน” ที่จะนำไปแปรรูปเป็นสารให้ความหวาน ผงชูรส สิ่งทอ กระดาษ ยารักษาโรค กาว ไม้อัด วัสดุภัณฑ์ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ กรดมะนาว เป็นต้น

ยังมี “ตลาดเสริม” เพิ่มเติมเข้ามา ทั้งการผลักดันนำไปทำอาหารสัตว์ และผลักดันส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่าง “กระทรวงพาณิชย์” กับ “ภาคเอกชน” ที่ช่วยกันหาตลาดให้กับมันสำปะหลังที่กำลังออกสู่ตลาด
         
เกษตรกรน่าจะ “เบาใจ” ได้ ผลผลิตมีที่ขายแน่นอน
         
แต่ถ้าให้ดี ช่วง “เก็บเกี่ยว” ผลผลิตมันสำปะหลัง รอให้ “เปอร์เซ็นต์แป้ง” มีเต็มที่ อย่าเก็บเกี่ยว “มันอ่อน” และอย่าลืมขจัด "สิ่งเจอปน" ก็จะขายได้ราคาดีกว่า “กระทรวงพาณิชย์” เขาฝากแจ้งมา

ส่วน “พ่อค้า” ให้ “ปิดป้าย” แสดงราคารับซื้อให้ชัดเจน ห้าม “เอาเปรียบ-โกงน้ำหนัก-โกงวัดเชื้อแป้ง”  

ถ้าเจอ “เล่นงาน” ตามกฎหมายเด็ดขาด
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด