​มาตรการรับมือมันสำปะหลัง

img

ผลผลิต “มันสำปะหลัง” ในปี 2567/68 คาดว่า จะมีปริมาณ 27.196 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.54% โดยผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา และจะออก “มากที่สุด” ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2568
         
ทั้งนี้ คาดว่า ผลผลิตในช่วงนั้น จะสูงถึง 15.56 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 57.23% ของผลผลิตรวมทั้งหมด
         
กระทรวงพาณิชย์” ได้ทำ “ปฏิทินสินค้าเกษตร” ไว้แล้ว รู้ว่าสินค้าเกษตรตัวไหน คาดการณ์ปริมาณผลผลิตเท่าไร จะออกเมื่อไร ออกกระจุกตัวช่วงไหน และเตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้า
         
มันสำปะหลัง” ก็เช่นเดียวกัน
         
ไม่เพียงแค่นั้น “นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ยังได้ “สั่งการ” ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ เตรียม “มาตรการรับมือ” ผลผลิตมันสำปะหลังที่กำลังจะออกสู่ตลาด อย่าให้ “มีปัญหา” แล้วมา “ตามแก้” ทีหลัง แต่ทุกอย่างต้องพร้อมก่อน
         
จากนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอ “มาตรการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง ปี 2567/68” ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 และ ครม. ได้อนุมัติตามที่เสนอ จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่
         
1.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 300 ล้านบาท สนับสนุนดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอล ที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้สามารถรับซื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกในรูปแบบมันเส้นหรือแป้งมัน เป็นระยะเวลา 60-180 วัน เพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด เป้าหมาย 6 ล้านตัน
         
2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 17.50 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้นจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินกิจการโดยมีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก เพื่อช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายวงเงินกู้ 500 ล้านบาท ผลผลิตประมาณ 200,000 ตัน อัตราดอกเบี้ยโครงการ 4.5% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี และรัฐสนับสนุนดอกเบี้ยให้ 3.5% ต่อปี  
         


3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2567/68 วงเงิน 41.40 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง เป้าหมายเกษตรกร 3,000 ราย รายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 690 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยโครงการเท่ากับ MRR และรัฐรับภาระดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เกษตรกรรับภาระในอัตรา MRR –3  
         
4.โครงการยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมัน) วงเงิน 10 ล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้กลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาเครื่องสับมันสำปะหลังขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์สำหรับตากมันเส้น เครื่องละไม่เกิน 15,000 บาท เป้าหมาย 650 เครื่อง
         
นอกจากนี้ “กรมการค้าภายใน” ได้เตรียมของบประมาณจาก “กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงนี้ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และให้ผลผลิตมีเชื้อแป้งและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายได้ราคา โดยจะสนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว โดยรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง น่าจะรู้ผลสัปดาห์นี้
         
มาตรการยังไม่หมดเพียงเท่านี้ กรมการค้าภายในยังได้ประสาน “โรงงานผลิตอาหารสัตว์” และ “ผู้เลี้ยงปศุสัตว์” เช่น สุกร และโคนม เพื่อให้เพิ่มปริมาณ “การใช้” มันสำปะหลังมาทำอาหารสัตว์ และ “เชื่อมโยง” การรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรโดยตรง

กรมการค้าต่างประเทศ” ได้เตรียมเดินหน้าขยาย “ตลาดส่งออก” มันสำปะหลัง โดยจะ “นำร่อง” หลังปีใหม่ เริ่มจากนำคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนไปขายมันสำปะหลังที่เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ช่วงวันที่ 5-9 ม.ค.2568 และจะหาทางดึงให้ผู้ซื้อรายใหม่ ที่ไม่เคยใช้มันสำปะหลังมาก่อน หันมาใช้มันสำปะหลัง เช่น อาหารสัตว์ กาว กระดาษ สารให้ความหวาน และกรดซิตริก จากนั้น มีแผนที่จะไปขยายตลาดที่เม็กซิโก ชิลี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
         
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้สั่งการให้ “ทูตพาณิชย์” ที่ประจำอยู่ทั่วโลก เดินหน้าหาตลาดให้กับมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยอย่างต่อเนื่อง
        


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า” ได้เสนอให้ “เพิ่มมูลค่า” มันสำปะหลัง ด้วยการนำไปผลิตเป็น “พลาสติกชีวภาพ” ใช้ทดแทนพลาสติก นำไปผสมใน “อาหารจากพืช-อาหารฟังก์ชัน” และใช้ทำ “บรรจุภัณฑ์กินได้” ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ เพราะโลกวันนี้ ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อย “คาร์บอน” และการแก้ไขปัญหา “สิ่งแวดล้อม
         
ล่าสุด “ร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้ประชุมติดตามสถานการณ์มันสำปะหลัง เช็กความพร้อมของมาตรการต่าง ๆ และพิจารณามาตรการเสริม หากมีความจำเป็น
         
ผลการประชุม ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเดินหน้ามาตรการที่อยู่ในความดูแล และขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ รวมทั้ง “ประชาสัมพันธ์” และ “ทำความเข้าใจ” ให้กับเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงมาตรการของรัฐบาล เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากมาตรการ
         
พร้อมกับเตรียมมาตรการ “เพิ่มเติม” โดยจะให้ “องค์การคลังสินค้า (อคส.)” เข้าไป “เปิดจุดรับซื้อ” ในพื้นที่ ๆ มีข้อจำกัด “ด้านการรับซื้อ” หรือมีปัญหา “ด้านราคา” โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัว เพื่อกระตุ้นกลไกตลาดให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

จังหวัดใด” ที่มีความจำเป็น คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ของจังหวัดนั้น ๆ สามารถแจ้งความประสงค์ในการเปิดจุดรับซื้อมายังกรมการค้าภายในได้

ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ การชั่งน้ำหนัก การวัดเชื้อแป้ง การควบคุมการขนย้าย เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ตลอดจนติดตามและรายงานสถานการณ์ในพื้นที่อย่างรวดเร็วเพื่อจะได้เร่งแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
         
มัดรวม” มาตรการดูแลมันสำปะหลังไว้ทั้งหมดแล้ว
         
ส่วนจะ “ผลักดันราคา” ให้กับเกษตรกรได้ “มากน้อย” เพียงใด

ต้อง “ติดตาม” ดูกัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง