​มาตรการดูแลผลไม้

img

ปี 2565 ผลผลิต “ผลไม้” ทั้งประเทศ คาดว่าจะมีปริมาณรวม 5,426,555 ตัน เพิ่มขึ้น 13%
         
ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป สำหรับ “การส่งออก” และ “การบริโภค” ในประเทศ 
         
ผลไม้ดังกล่าว แยกเป็น “ทุเรียน” 1,483,041 ตัน เพิ่มขึ้น 26.26% “มังคุด” 388,023 ตัน เพิ่มขึ้น 43.3% “ลำไย” 1,697,677 ตัน เพิ่มขึ้น 8.4% “เงาะ” 300,608 ตัน เพิ่มขึ้น 5.99% “ลิ้นจี่” 37,818 ตัน เพิ่มขึ้น 4% “ลองกอง” 77,037 ตัน เพิ่มขึ้น 1% และ “มะม่วง” 1,441,361 ตัน เพิ่มขึ้น 5.24%
         
ผลไม้กว่า 5.4 ล้านตัน สัดส่วน 70% เป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยใน 100% ขายไปจีนมากที่สุด 65% สหรัฐฯ 11% ฮ่องกง 4% เวียดนาม 3% และมาเลเซีย 1% ที่เหลือส่งไปประเทศอื่น ๆ
         
ส่วนอีก 30% เป็นตลาดในประเทศ ขายให้กับผู้บริโภค ผ่านห้าง ตลาด รถเร่ ร้านอาหาร และนำไปแปรรูป
         
ปีนี้ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เตรียม “มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 2565” ล่วงหน้ามาเป็นครึ่งปี

ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2564
         
มีมาตรการ 17+1 โดยเพิ่มเฉพาะจังหวัดชายแดนใต้ มีมาตรการเปิดด่านเป็นมาตรการที่ 18
         
ทั้ง 17 มาตรการ ได้แก่ เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP , ช่วยเกษตรกร ผู้ประกอบการ ล้ง กระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท , เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก , ทำเกษตรพันธสัญญา , ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ , สนับสนุนกล่องผลไม้ , สนับสนุนรถเร่ รถโมบาย รับซื้อผลไม้ไปขาย , ประสานห้าง ปั๊ม เปิดพื้นที่ขายผลไม้ , ส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในต่างประเทศ , เจรจาจับคู่ธุรกิจผลไม้ออนไลน์ , ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ผ่านการเข้าร่วมงาน THAIFEX , ทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย 5 ภาษา , อบรมให้ความรู้เกษตรกรขายออนไลน์ , ผ่อนปรนเรื่องเคลื่อนย้ายแรงงาน , กอ.รมน. สนับสนุนกำลังพลเก็บ ขนย้ายผลไม้ , ทีมเซลส์แมนระบายผลไม้ , บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
         
จากนั้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565 นายจุรินทร์ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอีกครั้ง เพื่อ “อัปเดต” ประเด็น “ปัญหา-อุปสรรค” และ “แนวทางแก้ไข
         


ได้ข้อสรุป ว่า จะเพิ่ม “ทางสะดวก” ให้กับผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่าน “ทางบก” โดยมีเป้าหมายเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคกับ 3 ประเทศ คือ จีน สปป.ลาว และเวียดนาม
         
กับ “จีน” จะเจรจากับทางการจีนให้เปิด “ด่านตงซิง” เพื่อให้มีด่านสำหรับส่งออกผลไม้รวม 4 ด้าน และจะขอให้ “ขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน” รวมถึงขอเพิ่ม “ช่องทางพิเศษ” สำหรับส่งออกผลไม้ไทย  
         
กับ “สปป.ลาว” จะเร่งเจรจาแก้ไขปัญหา “การตรวจปล่อยสินค้าผ่านแดนล่าช้า” บริเวณด่านบ่อเต็น-โม่หาน และเตรียมแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าผ่าน “รถไฟลาว-จีน” ทั้งวิธีการขนส่งและราคาค่าขนส่ง
         
กับ “เวียดนาม” จะเร่งแก้ปัญหาเรื่อง “การขนส่งผลไม้” ผ่านนครพนม-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน ที่ต้องผ่านเวียดนาม โดยจะนำเข้าที่ประชุม “คณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC)” ในวันที่ 20 เม.ย.2565 เพื่อขอให้เวียดนามช่วยอำนวยความสะดวก “การจราจรที่ติดขัด” หน้าด่านฝั่งเวียดนาม
         
ทั้งนี้ ยังได้เตรียมมาตรการรับมือ กรณี “จีนปิดด่าน” ตามนโยบาย Zero Covid จะเจรจากับจีนกรณีตรวจพบโควิด-19 ที่ด่านก่อนเข้าจีน ขอให้พ่นฆ่าเชื้อแล้วส่งกลับ และยินดีให้ “แบล็กลิสต์” รายที่เจอ แต่ขออย่า “ปิดด่าน” เป็นพอ
         
ขณะเดียวกัน ได้เตรียมผลักดันการส่งออก “ผลไม้” ผ่าน “ทางเรือ” เพราะ “ตู้คอนเทนเนอร์” คลี่คลายแล้ว แต่ยอมรับว่า “ค่าระวาง” ยังสูงอยู่ จะแก้ปัญหาด้วยการผลักดันให้ “เรือใหญ่” เข้ามา “เทียบท่า-ถ่ายลำ” ได้
         
ตอนนี้ “กรมการค้าต่างประเทศ” กำลังหารือกับ “ภาคเอกชน” และ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เพื่อหาข้อสรุป
         
ส่วนการ “ขนส่งทางอากาศ” ขณะนี้ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” กำลังเจรจากับ “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” และ “สายการบินต่าง ๆ” เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน และยังได้ดึง “EXIM Bank” มาช่วยสนับสนุน “สินเชื่อ” เงื่อนไขผ่อนปรนให้กับผู้ส่งออกด้วย
         
นอกจากนี้ ยังมีแผนจัด “กิจกรรมขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทย ปี 2565” ทั้ง “ตลาดหลัก” และ “ตลาดใหม่
         
โดย “ตลาดหลัก” จะเน้น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เช่น จัดงาน Thai Fruits Golden Months จำนวน 8 ครั้งใน 8 เมืองหลักของจีน ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว หนานหนิง เฉิงตู เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน หนานชาง และคุนหมิง , จัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2022
         


ตลาดใหม่” เน้นเจาะเมืองรองในจีน เช่น หนานจิง ต้าเหลียน กุ้ยหยาง เซียงหยาง ผ่านกิจกรรมกระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทย
         
ส่วนตลาดอื่น ๆ จะเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การขายผ่านออนไลน์ และการเจรจาธุรกิจออนไลน์ โดยอาเซียน พุ่งเป้าไปที่เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังมีไต้หวันที่จะบุกเจาะ รวมถึงอินเดีย เอเชียใต้ เช่น บังคลาเทศ ศรีลังกา ตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ยุโรปตะวันออก เช่น โปแลนดื ฮังการี ลัตเวีย ลิธัวเนีย และเอสโตเนีย
         
สำหรับเรื่องเร่งด่วนอย่าง “มะม่วง” ที่ขณะนี้มีปัญหาด้านราคา “กรมการค้าภายใน” ได้เข้าไปช่วยรับซื้อ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อผ่าน “ตลาด” ที่อยู่ในความดูแล และ “ร้านธงฟ้า” โดยซื้อ “มะม่วงฟ้าลั่น” กิโลกรัม (กก.) ละ 10 บาท “น้ำดอกไม้” กก.ละ 25 บาท
         
และยังได้ประสานปั๊มน้ำมัน PT เข้าไปซื้อมะม่วงฟ้าลั่นตกเกรดจากกลุ่มเกษตรกร ในราคากก.ละ 5 บาท ปริมาณ 300 ตัน เพื่อนำไปเป็นของสมนาคุณให้กับผู้ใช้บริการในปั๊ม
         
ทางด้านภาพการ “เททิ้งมะม่วง” กรมการค้าภายในให้ข้อเท็จจริงว่า เป็นการคัดแยกมะม่วงของผู้รวบรวมเพื่อการส่งออก อะไรที่ “ตกเกรด” หรือ “ไม่ได้คุณภาพ” ก็คัดทิ้ง
         
ด้าน “แนวทางบริหารจัดการมะม่วง” ที่กำลังจะออกมากในช่วงเดือนเม.ย.2565 ได้เตรียมช่วยสนับสนุน “ค่าบริหารจัดการ กก.ละ 3 บาท” เพื่อให้เข้าไปช่วยรับซื้อ และจะ “เปิดจุดจำหน่าย” ที่ห้างท้องถิ่น การเคหะ นิคมอุตสาหกรรม รถโมบาย
         
นายจุรินทร์ บอกว่า จากมาตรการที่เตรียมการมา “ล่วงหน้า” บวกกับมาตรการ “เร่งด่วน” ที่กำลังดำเนินการ
         
เชื่อว่า ปีนี้คงไม่มีปัญหาเรื่อง “ผลไม้ราคาตกต่ำ
         
แต่ก็ไม่ได้ “ประมาท” ได้สั่งการให้ “หน่วยงานพาณิชย์” ติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์ “ผลผลิต” และสถานการณ์ด้าน “ราคา” เพื่อที่จะได้ “รับมือ” ได้ทัน หากมีปัญหาเกิดขึ้น

รวมทั้งให้ “ทูตพาณิชย์-ทูตเกษตร” มอนิเตอร์ “การส่งออก” และติดตามกรณีมี “ปัญหา-อุปสรรค” ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้แก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีเช่นเดียวกัน

เตรียมการไว้ล่วงหน้า ทั้ง “เชิงรุก-เชิงรับ” แบบนี้
         
หวังว่า ปีนี้ น่าจะเป็น “ปีทอง” ของผลไม้ไทยอีกปีหนึ่ง
         
ขอยินดีกับชาวสวนผลไม้ล่วงหน้า
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด