​อาเซียนเชื่อมโยงเศรษฐกิจ

img

เมื่อวันที่ 8-9 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา “นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้เป็น “หัวหน้าคณะผู้แทนไทย” เข้าร่วมการประชุม “รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat)” ที่ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ
         
การประชุมครั้งนี้ มี “ความสำคัญ” เพราะเป็นการ “วางกรอบ” การดำเนินงานของอาเซียน ที่จะร่วมกัน “ผลักดัน” ในปีนี้ และในระยะต่อไป
         
หลังจากที่ “รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน” ได้ประชุมร่วมกัน สามารถสรุป “ประเด็นสำคัญ” ที่จะผลักดันได้ 6 ประเด็น คือ
         
1.การเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การที่อาเซียนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตของโลกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการวางรากฐานอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว
         
2.การหารือถึงบทบาทอาเซียนในเวทีโลก ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ โดยต้องปรับนโยบายการค้า ขนส่ง โลจิสติกส์ หาตลาดและแหล่งวัตถุดิบใหม่ พัฒนาคนรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และแสวงหาประโยชน์จากเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล
         
3.การรับรองกรอบการอำนวยความสะดวกด้านบริการของอาเซียน (AFSS) ที่จะต่อยอดการเปิดเสรีบริการและสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการค้าบริการ
         
4.การเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) ที่ต้องเร่งหาข้อสรุป เช่น การลดภาษีเพิ่มเติม การเปิดตลาดสินค้าหมุนเวียน การใช้กลไกแก้ปัญหากรณีพิพาททางเลือก เพื่อให้ได้ผลสรุปในข้อบทหลัก ๆ ภายในปี 2567
         
5.การเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อให้สามารถหาข้อสรุปการเจรจาให้ได้มากที่สุดภายในปี 2567
         
6.การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวาระความยั่งยืนของอาเซียน (Sustainability) ที่จะมีการจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเล
         


นายนภินทร” กล่าวว่า ไทยเห็นด้วยกับอาเซียนในการขับเคลื่อน 6 ประเด็นสำคัญ ที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ต้องการผลักดัน และพร้อมที่จะเดินหน้าไปพร้อมกับอาเซียน เพราะทุกประเด็นสอดคล้องกับนโยบายของไทย ที่ต้องการผลักดันในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
         
ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม ไทยในฐานะประธานการเจรจา “ความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA)” ได้ “สนับสนุน” และ “ผลักดัน” การเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 ปี โดยมุ่งหวังให้ DEFA ช่วยส่งเสริม “การค้าสินค้า” และ “ธุรกิจบริการ” ที่เกี่ยวข้องให้เติบโต รวมทั้ง “ดึงดูดการลงทุน” จากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น
         
ส่วนการอัปเกรด “ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน” ไทยสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียนที่ “ตั้งเป้า” ให้สำเร็จภายในปีนี้ เพราะจีนเป็น “คู่ค้ารายใหญ่ที่สุด” ของอาเซียน ติดต่อกัน 15 ปี และเป็นตลาดคู่ค้า “อันดับหนึ่ง” ของไทยตลอด 12 ปีที่ผ่านมา และเป็น “ตลาดอีคอมเมิร์ซ” ขนาดใหญ่ของโลกที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม
         
ขณะที่การเจรจายกระดับ “ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA)” ไทยเห็นว่า แม้ว่าอาเซียนได้ “ลดภาษี” ระหว่างกันแล้วประมาณ 99% แต่ยังมี “สินค้าที่ยังไม่ได้นำมาลดภาษี” อีก 1,266 รายการ โดยเฉพาะ “กลุ่มสินค้าเกษตร” ที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เนื้อไก่สดและแช่เย็น ข้าว และผลไม้ จึงได้ผลักดันเรื่องการลดภาษี “สินค้าที่เหลืออยู่” เพื่อให้การค้าในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้การรวมกลุ่มของอาเซียนแน่นแฟ้นและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น  
         
ทางด้าน “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability)” ที่อาเซียนกำลังดำเนินการเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว” และการผลิตที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เน้นสาขาเกษตร พลังงาน และคมนาคม ซึ่งไทยได้เน้นย้ำให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อแก้ “ปัญหาโลกร้อน” โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เป็น “มลพิษ” ในหลายประเทศของอาเซียน ที่มิได้ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวัฏการเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ระบบสาธารณสุข ระบบนิเวศและการเติบโตของพืชผลการเกษตรเป็นวงกว้าง
         
นอกจากนี้ ในช่วงการประชุม นายนภินทรยังได้ใช้โอกาส “หารือทวิภาคี” กับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ “เมียนมา” และ “เวียดนาม
         


กับเมียนมา หารือกับ ดร.คาน ซอว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเมียนมา ได้ตกลงร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะ “ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5” ที่ไทยได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกภาคส่วนมาโดยตลอด ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จในระยะแรก จึงอยากจะส่งต่อความสำเร็จมายังเพื่อนบ้าน ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเช่นเดียวกับไทย โดยเมียนมายินดีขอรับความร่วมมือ แต่เห็นว่า  “ปัญหาการเผาพื้นที่เกษตร” ของเมียนมา นอกจากจะขาดเทคโนโลยีที่จำเป็นแล้ว ยังต้องเพิ่ม “ความพยายาม” ในการรณรงค์ให้เกษตรกร โดยเฉพาะ “ตามแนวชายแดน” มีความตระหนักต่อปัญหานี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรในการใช้วิธี “เผาตอซังข้าว” และ “พืชไร่ต่าง ๆ” มีความสำคัญมากต่อการ “ป้องกันควันพิษ” ไม่ให้ลอยเข้าสู่อากาศ
         
กับเวียดนาม หารือกับ นายเหวียน ชิง หยิด เติญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม โดยไทยขอความร่วมมือเวียดนามอำนวยความสะดวก “ตรวจปล่อยสินค้าผลไม้” ของไทยไปจีน ในช่วงฤดูกาลผลไม้ไทยที่เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.2567 เป็นต้นไป โดยขนส่งในเส้นทางจาก “ด่านมุกดาหาร” และ “ด่านนครพนม” ผ่าน “ด่านฮูงี้” และ “ด่านหมงก๋าย” ของเวียดนาม ก่อนเข้าสู่ “ด่านโหยวอี้กวน” และ “ด่านตงชิง” ของจีนตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเวียดนามยินดีจะให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่
         
นี่คือ “ผลการประชุม” ที่เกิดขึ้นในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
         
หลายเรื่องเป็น “อนาคต” ของอาเซียน และยังเป็นอนาคต “ของไทย
         
งานนี้ ต้องยก “ความดีความชอบ” ให้กับนายนภินทร ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการค้าไทย ที่นอกจากจะ “ผลักดัน” ให้การประชุม เป็นไปตามที่ไทยต้องการ และยึดผลประโยชน์ในภาพรวมของไทยเป็นที่ตั้ง ยังสามารถผลักดันหลาย ๆ ประเด็นที่ไทย “ต้องการ” ได้ด้วย
         
แม้จะเป็น “มือใหม่” ในเวทีเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่ความ “เก๋าเกม” ไม่ต้องพูดถึง

ขอชื่นชม !!!   
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด