​ชำแหละค่าครองชีพ

img

ทุกวันนี้ คนบ่น “ของแพง” บ้างก็บอก “แพงทั้งแผ่นดิน” ก็ว่ากันไป
         
ข้อนี้ “ไม่ขอเถียง” เพราะแพงขึ้นจริง แล้วหลายสินค้าด้วย
         
เห็นได้ทั้ง “ตามสื่อ” หรือ “ประสบด้วยตนเอง
         
ที่ชัด ๆ เป็นข่าวคึกโครม ก็ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่ปรับ “ราคาขายส่ง” เพราะต้นทุนบรรจุภัณฑ์ แป้งสาลี และน้ำมันปาล์มสูงขึ้น แต่ยังดีที่ “ราคาขายปลีก” ไม่ขยับ
         
หรือนมสด นมข้นหวาน ที่จะขึ้นกระป๋องละ 2 บาท เพราะต้นทุนวัตถุดิบทำกระป๋องสูงขึ้น
         
แล้วที่กำลัง “ตั้งแท่น-ตั้งท่า” ขึ้นราคาตามมาอีก ก็คือ “อาหารสัตว์” และ “ปุ๋ยเคมี
         
เพราะได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบ ทั้ง “ข้าวสาลี-ข้าวโพด-กากถั่วเหลือง” ที่มีราคาสูงขึ้น และ “แม่ปุ๋ย” ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงขึ้น
         
ก็อย่างที่รู้กัน วัตถุดิบอาหารและแม่ปุ๋ย ต้องนำเข้าจากรัสเซีย-ยูเครน เป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้ ทั้ง 2 ประเทศ “รบกันอยู่” ซัปพลายหายแน่นอน
         
ทั้งนี้ “กระทรวงพาณิชย์” กำลังแก้ไขปัญหาอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ 

แต่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน หากจะลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเลย หรือเปิดให้นำเข้าแบบเสรีเลย หรือเลิกสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีแล้วต้องซื้อข้าวโพด 3 ต่อ 1 ในประเทศเลย อาจจะกระทบยาวต่อเนื่องถึงราคาที่เกษตรกรจะขายได้ จึงต้องหา “จุดสมดุล” ที่สุด
         
คงเร็ว ๆ นี้ น่าจะ “มีทางออก
         
กลับมาที่เรื่อง “ค่าครองชีพ” ก็อย่างที่บอก เมื่อคนรู้สึกว่า “ของแพง” ต่างก็พุ่งเป้ามาที่กระทรวงพาณิชย์
         
พุ่งมาถามกระทรวงพาณิชย์ จะแก้ไขปัญหา “ยังไง อย่างไร
         
พอมีดีมีข้อมูล “ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน” ที่ทำการสำรวจโดย “สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
         
ข้อมูลนี้ น่าจะทำให้ “เห็นภาพ” ว่า “ค่าใช้จ่าย” จริง ๆ มันไปหนักตรงไหน จ่ายตรงไหนมาก
         
ไม่ได้มี “เจตนา” หรือ “เป้าหมาย” ในการ “แก้ต่าง” หรือ “แก้ตัว” ให้กับกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด
         
เพราะ “การกำกับดูแลสินค้า” เป็น “หน้าที่โดยตรง” ของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว
         


ค่าครองชีพของคนไทยทั้งประเทศ ต้องบอกก่อนว่า “เป็นค่าเฉลี่ย” ไม่ได้ตรงตามนี้เป๊ะ ๆ เพราะในสังคม มีทั้ง “คนรวย-คนจน” จึงวัดกันที่ค่าเฉลี่ย
         
ลองตามมาดู “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องจ่ายทุกเดือน มีอะไรบ้าง เดี๋ยวจะชำแหละให้เห็นเป็นฉาก ๆ  
         
เริ่มจากค่าใช้จ่ายที่คนไทย “ต้องจ่ายมากที่สุด” คือ “ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าซื้อยานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์” ตรงนี้คิดเป็นสัดส่วน 23.62% ของรายจายทั้งหมด หรือเฉลี่ยเดือนนึง ก็ 4,135 บาท
         
ต่อมาเป็น “ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน” มีสัดส่วน 22.35% หรือจ่ายเฉลี่ย 3,913 บาท
         
เป็นค่า “เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ” สัดส่วน 9.66% หรือจ่ายเฉลี่ย 1,690 บาท
         
ค่า “อาหารบริโภคในบ้าน” สัดส่วน 8.91% หรือจ่ายเฉลี่ย 1,560 บาท
         
ค่า “อาหารบริโภคนอกบ้าน” สัดส่วน 6.86% เช่น ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เคเอฟซี พิซซ่า หรือจ่ายเฉลี่ย 1,200 บาท
         
ค่า “แพทย์ ยา บริการส่วนบุคคล” สัดส่วน 5.49% หรือจ่ายเฉลี่ย 961 บาท
         
ค่า “ผักและผลไม้” สัดส่วน 4.99% หรือจ่ายเฉลี่ย 873 บาท
         
ค่า “หนังสือ สันทนาการ ค่าเล่าเรียนและการกุศล” สัดส่วน 4.29% หรือจ่ายเฉลี่ย 751 บาท
         
ค่า “ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง” สัดส่วน 3.71% หรือจ่ายเฉลี่ย 649 บาท
         
ค่า “เครื่องปรุงอาหาร” สัดส่วน 2.41% หรือจ่ายเฉลี่ย 421 บาท
         
ค่า “เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” สัดส่วน 2.18% หรือจ่ายเฉลี่ย 381 บาท
         
ค่า “เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า” สัดส่วน 2.14% หรือจ่ายเฉลี่ย 374
         
ค่า “ไข่และผลิตภัณฑ์นม” สัดส่วน 2.05% หรือจ่ายเฉลี่ย 358 บาท
         
ค่า “บุหรี่ เหล้า เบียร์” สัดส่วน 1.36% หรือจ่ายเฉลี่ย 238 บาท
         


ลองรวม ๆ ดู เป็นกลุ่ม “สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์” สัดส่วน 40.74%
         
และเป็น “สินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์” สัดส่วน 59.26%
         
นั่นหมายความว่า “ค่าใช้จ่าย” ของคนไทย ที่หนัก ๆ จะเป็นกลุ่มค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่ามือถือ และกลุ่มค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม รวมกันแค่ 2 กลุ่มนี้ ก็ปาเข้าไปสัดส่วน 45.97%
         
ที่เหลือเป็นค่ายา ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ ค่าบุหรี่ เหล้า เบียร์ หาก “งด” ตรงบุหรี่ เหล้า เบียร์ ก็จะประหยัดเงินได้เพิ่มขึ้น
         
ดังนั้น หากต้องการจะลดค่าใช้จ่าย ลดค่าครองชีพให้ประชาชน รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ที่ชัด ๆ เลย ก็ “ค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม” ลดได้มาก ก็ประหยัดได้มาก แต่ทุกวันนี้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ไม่ลดไม่พอ แต่ยังจะขึ้นอีก  
         
ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็น “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” ของกระทรวงพาณิชย์โดยตรง
         
ที่ผ่านมา ได้มีการขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาสินค้าและบริการรวม 18 กลุ่ม ได้แก่ 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.หมวดอาหารสด 3.อาหารกระป๋อง 4.ข้าวสารถุง 5.ซอสปรุงรส 6.น้ำมันพืช 7.น้ำอัดลม 8.นมและผลิตภัณฑ์จากนม 9.เครื่องใช้ไฟฟ้า 10.ผลิตภัณฑซักล้าง 11.ปุ๋ย 12.ยาฆ่าแมลง 13.อาหารสัตว์ 14.เหล็ก 15.ปูนซีเมนต์ 16.กระดาษ 17.ยา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ 18.บริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง
         
ตอนนี้ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเป็นอย่างดี แม้ว่า จะมีหลายสินค้า มีข่าวปรับขึ้นราคา
         
แต่ก็ยังไม่ได้อนุญาต “ให้ขึ้นราคา” เพราะต้องตรวจสอบ “ต้นทุน” กันก่อน
         
แล้วการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคา ก็จะยึดหลัก “สมเหตุสมผล” ผู้ผลิต “อยู่ได้” ผู้บริโภค “ไม่กระทบเกินไป
         
กำลัง “เวิร์ก ๆ กันอยู่” โดยกรมการค้าภายใน
         
แต่เป้าหมายที่ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ตั้งใจไว้ ก็คือ จะพยายามตรึงให้ได้ “นานที่สุด” หรือถ้าจะขึ้น ก็ขึ้นให้ “น้อยที่สุด”  
         
เพราะ “ไม่อยากสร้างภาระ” ให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด