​นโยบายไบเดน 100 วันแรก ไทยได้หรือเสีย

img

นายโจ ไบเดน” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการไปแล้ว และประกาศชัดในช่วง 100 วันแรก จะมีแผนบริหารงานมุ่งแก้วิกฤตใน 4 ประเด็นหลัก
         
4 ประเด็นที่ว่า ได้แก่ 1.แก้วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2.แก้วิกฤตเศรษฐกิจ 3.แก้วิกฤตสิ่งแวดล้อม และแก้วิกฤตด้านความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์
         

ทั้งนี้ ในช่วง 10 วันแรก คาดว่า จะออกคำสั่งประธานาธิบดีอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแค่ 2 วัน ก็ลงนามในคำสั่งพิเศษไปแล้วมากกว่า 20 ฉบับ เน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 , ยุติการถอนตัวจาก WTO , กลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส , ยกเลิกการปิดกั้นผู้อพยพจากประเทศมุสลิม , เร่งเยียวยาเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนแนวทาง “Buy American”
         
ส่วนใหญ่เป็นการยกเลิกนโยบายของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” มีเป้าหมาย เพื่อแก้ไขความเสียหายร้ายแรงในปัจจุบัน ควบคู่กับการขับเคลื่อนสหรัฐฯ ไปข้างหน้าอย่างเร่งด่วน
         
ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าไทย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่า มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว โดยล่าสุด (ม.ค.2564) ธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2564 จะขยายตัว 3.5%
         
ผลที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อขาวอเมริกัน ทำให้สหรัฐฯ ซื้อสินค้ามากขึ้น รวมถึงการซื้อจากไทย
         
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในปี 2563 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.55% แม้จะมีวิกฤตโควิด-19 แต่ไทยก็ยังส่งออกได้ดี
         


สินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออก เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
         
ในปี 2564 คาดว่า ไทยจะยังส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ป้องกันโรค เช่น ถุงมือยาง สินค้าอาหารทุกประเภท และสินค้าที่เป็นกลุ่มสนับสนุนการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน สินค้าไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
         
อย่างไรก็ตาม แนวทาง “Buy American” ที่กำหนดให้ภาครัฐเพิ่มการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สินค้าเหล็ก อลูมิเนียม และวัตถุดิบสำคัญ อาจสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวจากไทยไปยังสหรัฐฯ ได้
         
โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงอันดับแรก คือ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่า 1,011 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 20.81% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2563 และอลูมิเนียม อยู่ที่อันดับ 2 มูลค่า 190.84 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 11.23% ของการส่งออกทั้งหมด
         
นอกจากนี้ การกลับเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะกระทบต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปภายในของไทย ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นอันดับ 6 มีมูลค่า 215.69 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.88% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถ้ารวมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก็ยังคงเป็นอันดับ 6 มีมูลค่า 1,039.24 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วน 4.89% ของการส่งออกรวม
         
ถือเป็นความท้าทาย ที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว และตื่นตัวกับแนวโน้มรักษ์โลก และพลังงานสะอาด
         


ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ ยึดกฎกติกาสากลและกลไกพหุภาคีมากขึ้น จะช่วยลดความผันผวนหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อเศรษฐกิจการค้าโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าไทย

ส่วนนโยบายการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรทางการค้า จะเปิดโอกาสการเจรจาให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ และคู่ค้าอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

สำหรับสิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมและต้องระวัง คือ ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและแรงงาน รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

เช่นเดียวกับมาตรการอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ใช้ติดตามพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดตามนโยบายค่าเงินของประเทศคู่ค้า การบิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจใช้เป็นเหตุผลในการออกมาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการภายใต้มาตรา 301 และการขึ้นภาษีตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ต่อประเทศคู่ค้าที่แทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงได้

ทางด้านการรับมือของไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบาย และทำงานร่วมกับภาคเอกชนผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) อย่างใกล้ชิด
         
เป็นความท้าทาย ไม่ใช่แค่ 100 วันแรก เพราะไทยจะต้องอยู่กับประธานาธิบดีที่ชื่อ “ไบเดน” ไปอีก 4 ปี จึงต้องตื่นตัว เตรียมรับมือประเด็นที่ไม่คาดฝัน โดยมีเป้าหมายให้ไทย “ได้มากกว่าเสีย” ในฐานะที่ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดที่สำคัญตลาดหนึ่งของไทย
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด