​ต้องปรับตัวสู้ อย่าหวังพึ่งแต่ GSP

img

คงทราบข่าวกันไปแล้ว ว่า “ไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP” อีกครั้ง ในรอบ 2 ปี ติดต่อกัน
         
ปี 2653 สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยอีก 231 รายการ อ้างเหตุผล “ไทยไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดงให้กับสหรัฐฯ มีผลบังคับ 30 ธ.ค.2563
         
ก่อนหน้านี้ ปี 2562 สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ที่ให้กับไทย ไปแล้ว 573 รายการ แต่มีผลวันที่ 25 เม.ย.2563
         
รวม 2 ปี โดนไป 804 รายการ
         
ไปดูเงื่อนไข ที่สหรัฐฯ นำมาตัด GSP สินค้าไทยเป็นรายประเทศ โดยการตัดสิทธิดังกล่าว มี 6 เงื่อนไข ถ้าเข้า 6 เงื่อนไขนี้ ก็จะถูกตัดสิทธิ ได้แก่
         
1.ระดับการพัฒนาประเทศ หากมีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,375 เหรียญสหรัฐ ก็ยังไม่ถูกตัด

2.การเปิดตลาดสินค้าและบริการ

3.การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

4.การคุ้มครองสิทธิแรงงาน

5.การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้า

6.การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย

ปี 2562 ไทยถูกตัดสิทธิ GSP เพราะเข้าเงื่อนไขข้อ 4 โดยถูกสหรัฐฯ กล่าวหา ไม่มีการคุ้มครองแรงงานอย่างเพียงพอ

มาปีนี้ ถูกกล่าวหาในประเด็นที่ 2 การเปิดตลาดสินค้าและบริการ ที่ไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง
         
ผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบายว่า ในจำนวนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ 231 รายการ มีสินค้าที่กระทบจริงเพียง 147 รายการ เพราะไทยใช้สิทธิ GSP อยู่เพียงเท่านี้ ที่ไม่ใช้ก็ไม่กระทบ เพราะไม่ได้ขอใช้สิทธิ และมีการส่งออก
         


โดย 147 รายการที่กระทบ มีมูลค่าการนำเข้าในสหรัฐฯ ประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ยอดรวมนี้ ไม่มีผลกระทบ เพราะไทยยังคงส่งออกได้ตามปกติ

แต่จะไปกระทบตรงที่ มีภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติประมาณ 3-4% โดยมีผลกระทบเป็นมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้น

มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

หากจะบอกว่า ไทยได้รับผลกระทบจากการถูกตัด GSP ก็พูดชัดๆ อย่างนั้นไม่ได้ เพราะไทยยังส่งออกได้ และถ้าสินค้าไทยดีจริง มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ก็ต้องการที่จะซื้อ และยอมจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เพื่อนำเข้าสินค้าไทยต่อ

ทั้งนี้ มีผลจากกรณีที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP เมื่อ 25 เม.ย.2563 มายืนยันว่า แม้จะถูกตัด GSP แล้ว แต่สินค้าไทยยังแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้
         
สินค้าไทยที่ถูกตัดสิทธิ 573 รายการ และตรวจสอบพบมีผลกระทบจริง 315 รายการ ที่จะต้องกลับไปเสียภาษีในอัตราปกติ

จากการติดตามผลการส่งออกตั้งแต่ 25 เม.ย.-ส.ค.2563 การส่งออกลดลง 10% แต่ยังบอกไม่ได้ว่า เป็นผลจากการถูกตัด GSP หรือผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้การส่งออกทั่วโลกลด รวมทั้งไทย
         
แต่หากมองให้ลึกลงไป พบว่า ในสินค้า 1 ใน 20 รายการที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น มีถึง 10 รายการมาจาก 315 ที่ไทยถูกตัด GSP
         
นั่นแสดงให้เห็นว่า การถูกตัด GSP ไม่ได้มีผลกระทบต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ
         
โดยสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องสุขภัณฑ์ ผ้าผืน ธงชาติ เครื่องล้างจาน ผลไม้ เช่น ลิ้นจี้ ลำไย และหัวเทียน เป็นต้น
         


อย่างไรก็ตาม หากดูรายการสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ ตัด GSP ใน 315 รายการ พบว่า มีหลายรายการลดลงจริง แต่กลับมีการส่งออกไปประเทศอื่นได้เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่า ผู้ส่งออกของไทยปรับตัวได้ และหันไปพึ่งพาตลาดอื่นทดแทน
         
สินค้าที่ถูกตัด GSP แต่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น แว่นตา ตะปู พัดลม แผงสวิชต์และควบคุมไฟฟ้า เครื่องจักรสาน น้ำผลไม้ เป็นต้น

การถูกตัด GSP ไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบมากนัก เพราะหากไทยสินค้าไทยมีคุณภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ใครๆ ก็อยากที่จะซื้อ แม้ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง

หรืออีกด้าน ผู้ส่งออก อย่าหวัง หรืออย่ามองที่จะพึ่งตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีตลาดอีกจำนวนมากที่ต้องการสินค้าไทย

แล้วกระทรวงพาณิชย์ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ

ปัจจุบัน มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ , การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ , การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง  

วันหนึ่ง GSP คงถูกตัดหมด เพราะเป็นการให้ฝ่ายเดียว สหรัฐฯ จะตัดวันนี้ ตัดพรุ่งนี้ หรือจะเลิกให้เมื่อไรก็ได้ หรือจะมีเงื่อนไขมากดดันไทย ก็ได้

ถ้าไทยยังหวังพึ่งแต่ GSP ก็จะเป็นลูกไล่สหรัฐฯ อยู่ต่อไป 

ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว ต้องสู้ด้วยคุณภาพ สู้ด้วยมาตรฐาน สินค้าไทยถึงยังจะโดดเด่นได้ในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

ซีเอ็นเอ

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด