​สินค้าดาวรุ่งยุค New Normal

img

แม้การส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) จะยังคงติดลบ 3.86% แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นตัวเลขติดลบน้อยสุดในรอบ 3 เดือน และถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
         
การส่งออกของไทยเคยติดลบหนักสุดในเดือน มิ.ย. โดยลบถึง 23.17% พอมาเดือน ก.ค. ก็ยังติดลบ 11.37% และเดือน ส.ค. ติดลบน้อยลงเหลือ 7.94%
         
แสดงให้เห็นว่า การส่งออกมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นเป็นเครื่องหมายถูก แต่หางถูกจะขึ้นแบบชัน หรือขึ้นแบบเส้นตรงนอนแล้วค่อยๆ ชันขึ้น ยังต้องติดตามกันต่อไป
         
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกของไทย แม้จะลดลงในช่วงที่การส่งออกเผชิญกับภาวะวิกฤต ทั้งภัยแล้ง สงครามการค้า ค่าเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็มีสินค้าบางกลุ่มที่กลายมาเป็นสินค้าดาวรุ่ง สร้างรายได้ในยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี
         
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ทำการวิเคราะห์สินค้าส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบสินค้าส่งออกที่เติบโตสวนกระแสโลกอยู่ 4 กลุ่ม
         


กลุ่มที่ 1 อาหารและอาหารแปรรูป มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ

อาหารสด ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 21.68% ขยายตัวในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ หมูสดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 642.90% ขยายตัวในฮ่องกงและเมียนมา

อาหารกระป๋อง ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง เพิ่ม 9.11% ขยายตัวในสหรัฐฯ เปรู อียิปต์ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย กุ้งกระป๋อง เพิ่ม 10.20% ขยายตัวในสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโก สหราชอาณาจักร ปลาหมึกกระป๋อง เพิ่ม 88.24% ขยายตัวในญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ข้าวโพดหวานกระป๋อง เพิ่ม 13.25% ขยายตัวในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ หน่อไม้กระป๋อง เพิ่ม 37.76% ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย

น้ำผลไม้ผสม เพิ่ม 25.13% ขยายตัวในไต้หวัน กัมพูชา สหรัฐฯ จีน

เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 4.02% ขยายตัวในจีน สิงคโปร์ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา
         
กลุ่มที่ 2 สินค้าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ

ถุงมือยาง เพิ่ม 61.34% ขยายตัวสูงต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และจีน

สบู่ เพิ่ม 27.74% ขยายตัวในออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CLMV สหราชอาณาจักร

กลุ่มที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ



เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว ได้แก่ ตู้เย็น เพิ่ม 2.6% ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เตาอบไมโครเวฟ เพิ่ม 32.06% ขยายตัวในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้แก่ ลำโพง เพิ่ม 81.53% ขยายตัวในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ พัดลม เพิ่ม 1.26% ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน แคนาดา คอมพิวเตอร์ เพิ่ม 3.33% ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน และเฟอร์นิเจอร์ เพิ่ม 11.83% ขยายตัวในสหรัฐฯ เวียดนาม เกาหลีใต้

กลุ่มที่ 4 ยานพาหนะ มีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ รถจักรยานยนต์ เพิ่ม 17.85% ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เบลเยียม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. บอกว่า สินค้ากลุ่มอาหาร ถือเป็นดาวรุ่งตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 และเมื่อเกิดโควิด-19 ก็ขยายตัวได้ดี เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน พอกระทรวงพาณิชย์สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ว่า สินค้าไทยปลอดโควิด-19 ก็ยิ่งได้รับความต้องการเพิ่มขึ้น

สินค้ากลุ่มอาหารที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ยังส่งผลดีต่อเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และรายได้เข้าประเทศเกือบทั้งหมด เพราะใช้วัตถุดิบภายในประเทศมาผลิตเป็นส่วนใหญ่"

ส่วนสินค้ากลุ่มป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด อย่างถุงมือยาง ก็มีคำสั่งซื้อยาวไปจนถึงสิ้นปี 2564 กลุ่ม Work from Home ก็เติบโตต่อเนื่อง จากการที่คนทำงานที่บ้าน ตกแต่งบ้าน ขณะที่รถจักรยานยนต์ ถือเป็นดาวรุ่งตัวใหม่ ที่กำลังมาแรงอีกตัวหนึ่ง

เห็นได้ชัดเจนว่า แม้ในภาวะวิกฤต ก็มีโอกาส สินค้าหลายๆ กลุ่มของไทย ยังส่งออกได้ดีขึ้น
         
แม้ยอดส่งออกสินค้าทั้ง 4 กลุ่มนี้ จะไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไทย ให้พลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่ก็ช่วยให้ส่งออกภาพรวม ติดลบน้อยลง
         
กระทรวงพาณิชย์ คาดไว้ว่า ทั้งปี จะติดลบไม่เกิน 7% และจะฟื้นตัวดียิ่งขึ้นในปี 2564

ไว้มาติดตามดูกัน
 
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง