​FTA เพิ่มโอกาสค้าขาย

img

มาตรการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยอีกหนึ่งมาตรการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดให้ดำเนินการ ก็คือ การผลักดันการเจรจา FTA เพื่อรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่
         
การเจรจา FTA เป็นเหมือนการเปิดประตูให้กับสินค้า บริการ และการลงทุนของไทย ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ถูกลง จากการลดภาษี ลดมาตรการข้อจำกัด ลดเงื่อนไขทางการค้า 
         
ปัจจุบัน ไทยมี FTA จำนวน 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ส่วนอีก 8 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู
         
หากถามว่า FTA ที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือยัง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ตอบได้เลยว่า ยัง
         
ขณะนี้ FTA ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ มีสัดส่วนการค้าเพียง 62.8% ของการค้ารวมของไทย ยังเหลืออีกตั้ง 37.2% ที่ไทยทำการค้าด้วย แต่ไม่มี FTA จึงเป็นเป้าหมายที่ไทยจะต้องเติมเต็มสัดส่วนประเทศที่ทำ FTA ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น
         
ในปี 2564 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีเป้าหมายที่จะเจรจา FTA รวมทั้งสิ้น 12 กรอบ มีทั้งการฟื้นการเจรจา FTA ที่เคยเป็นเป้าหมายเดิม การเปิดเจรจา FTA กับประเทศใหม่ๆ การเร่งรัด FTA คงค้าง และการอัพเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม
         
โดย FTA ที่จะฟื้นการเจรจา มี 2 กรอบ คือ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ปัจจุบันมีการศึกษาประโยชน์และผลกระทบใกล้เสร็จแล้ว จะเผยแพร่ได้ปลายเดือนต.ค.2563 และจะเปิดรับฟังความคิดเห็น พร้อมตั้งเป้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาราวเดือน ธ.ค.2563

ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบ คาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปีหน้า จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็น
         


FTA ที่จะเปิดเจรจาใหม่ มี 3 กรอบ คือ ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ตอนนี้การศึกษาประโยชน์และผลกระทบจะเสร็จแล้ว คาดว่าจะเผยแพร่ได้ช่วงต้นปี 2564 และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือเบื้องต้นกับยูเคเพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบาย

ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ที่ประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบแล้ว คาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงปลายปี 2564 ขณะเดียวกันจะรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหารือกับ EAEU เพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบายต่อไป

อาเซียน-แคนาดา จะหารือความเป็นไปได้เรื่องการเปิดเจรจาในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เดือน ม.ค.2564 ก่อนเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา พิจารณาในเดือน ส.ค.2564 ว่าจะเปิดการเจรจาหรือไม่

ส่วน FTA คงค้าง มีอยู่ 3 ฉบับ คือ ตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา จะเร่งรัดผลักดันให้มีความคืบหน้าและให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว  

ขณะที่ FTA ที่จะต้องมีการยกระดับและปรับปรุงความตกลง ส่วนใหญ่เป็น FTA ที่ไทยทำในกรอบอาเซียน มี 4 กรอบ ได้แก่ อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะเน้นการเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด และยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
         


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า FTA ที่จะช่วยเพิ่มความได้เปรียบให้กับการค้าของไทยมากที่สุด ก็คือ ไทย-อียู เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนการค้ากับไทยถึง 7.9% ถ้าเจรจาสำเร็จ จะยิ่งช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับไทยในตลาดอียู สู้กับคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และเวียดนามที่ทำ FTA ไปแล้วได้
         
ส่วนอาเซียนอื่น อียูกำลังเจรจา FTA กับอินโดนีเซีย พักการเจรจากับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย แต่ถ้ามาเลเซียและฟิลิปปินส์เริ่มเจรจาได้ก่อน ไทยก็จะยิ่งเสียเปรียบ
         
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียน พบว่า สิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลกสูงถึง 94.5% อินโดนีเซีย 76% มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม 69.9% โดยไทยอยู่อันดับที่ 5 ในอาเซียนที่ทำ FTA กับประเทศต่างๆ
         
หากในปี 2564 ไทยสามารถฟื้นการเจรจา FTA ที่เป็นเป้าหมายเดิม เปิดเจรจา FTA ใหม่ และผลักดัน FTA คงค้างได้สำเร็จ ก็จะทำให้สัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้น
         
แม้จะขยับเพิ่มที่ละเล็ก ทีละน้อย อย่างปากีสถาน มีสัดส่วนการค้าเพียง 0.3% ตุรกี 0.3% ศรีลังกา 0.1% หรือยูเค ประมาณ 1.3% หรือ EFTA ประมาณ 2% หรือ EAEU ประมาณ 1% หรือแคนาดา ไม่ถึง 1% ยกเว้นอียูที่มีสัดส่วน 7.9% ที่สูงที่สุด
         
แต่ถ้าเจรจา FTA สำเร็จได้ทั้งหมด รวมๆ แล้ว ก็จะทำให้สัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่ทำ FTA เพิ่มขึ้น การค้าไทยก็มีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
         
ลุยเลย!!!
         
ซีเอ็นเอ

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง

ข่าวล่าสุด

ดูทั้งหมด