​ราคาผลปาล์มตกต่ำ ปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว หรือแค่ระเบิดเวลารอวันระเบิดหนัก หลังยังต้องแบกสต๊อกหลักแอ่น

img

ปัญหาราคาผลปาล์มดิบตกต่ำ ได้เริ่มมีสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ย.2560 ที่ผ่านมา จากราคาที่ซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 4.20 บาท ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย กก.ละ 3.40-3.70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ทางการจัดเก็บ แต่ราคาขายจริง เกษตรกรบอกว่าขายได้ต่ำกว่านี้มาก โดยราคาขายหน้าลานเทอยู่ที่ กก.ละ 2.70-2.80 บาท ส่วนราคาหน้าโรงงานสกัดอยู่ที่ กก.ละ 3.05 บาท และกระทั่งวันนี้ ราคาก็ยังทรงตัวในระดับต่ำ
         
ราคาผลปาล์มดิบที่ตกต่ำ เกิดจากปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ โดยสต๊อกล่าสุดของเดือนต.ค.2560 อยู่ที่ 5.19 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.2560 ที่มีสต๊อกเพียง 2.37 แสนตัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และมีแนวโน้มที่ตัวเลขสต๊อกในเดือนพ.ย.2560 ที่กำลังรายงานน่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้อีก
         
จากปัญหาสต๊อกล้น ทำให้โรงงานสกัดไม่สามารถรับซื้อผลปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น เพราะซื้อมาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะสกัดไปเก็บไว้ตรงไหน ทางฟากโรงกลั่น ที่ต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดไปกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ก็ซื้อจนเต็มขีดความสามารถแล้ว จะให้กรมธุรกิจพลังงานประสานผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพิ่มสำรองไบโอดีเซล ก็ยังช่วยได้ไม่มาก สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ ก็หาทางออกไปไม่ได้
         
ถามว่า ปัญหานี้กรมการค้าภายในทำอะไรอยู่ รับรู้ปัญหาหรือไม่ เท่าที่ตรวจสอบ กรมการค้าภายในได้เริ่มมีการส่งสัญญาณเรื่องราคาผลปาล์ม ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.2560 ในครั้งนั้น ออกมาระบุว่า ที่ราคาตกต่ำ เพราะมีผลปาล์มเข้าสู่โรงสกัดมาก ทำให้มีน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเกินความต้องการใช้ของโรงกลั่นและผู้ผลิตไบโอดีเซล และทำให้มีสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือจำนวนมาก พร้อมแจ้งว่า ได้แก้ไขปัญหาด้วยการตรวจสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ เพื่อวางแผนบริหารจัดการ และขอให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มปริมาณสำรองไบโอดีเซลให้มากขึ้น ขอให้กรมศุลกากรเข้มงวดนำเข้า และขอให้เกษตรกรตัดปาล์มสุกที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% เพื่อให้ขายได้ราคาดีขึ้น
         
จากนั้นในช่วงเดือนพ.ย.2560 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 1 พ.ย.2560 ที่ประชุมได้มีมาตรการรับมือราคาตกต่ำไว้แล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันไบโอดีเซล และขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาให้โรงงานผลิตไฟฟ้า จ.กระบี่ นำน้ำมันปาล์มไปเป็นเชื้อเพลิง ส่วนการแทรกแซง ผู้แทนเกษตรกรและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ต้องการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกตลาดปกติทำงานไปก่อน แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ก็จะเสนอมาตรการต่อคณะอนุกรรมการฯ โดยด่วนต่อไป
         
หลังจากประชุมไปแล้ว สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น จนต้องเรียกประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 พ.ย.2560 แจ้งเหตุผลที่ราคาตกต่ำว่า เป็นเพราะผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น เกษตรกรตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ทำให้พอไปกลั่นก็เลยได้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาสต๊อกคงเหลือที่มีปริมาณมาก ได้มีมติให้เร่งรัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และยังใช้มาตรการเดิมขอให้เพิ่มปริมาณสำรองไบโอดีเซล จากสำรองตามกฎหมาย 14.339 ล้านลิตร เป็น 120 ล้านลิตร รวมทั้งขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่
         
แต่เชื่อหรือไม่ นับตั้งแต่เดือนส.ค. ที่เริ่มรู้ตัวว่าปาล์มกำลังจะมีปัญหา พอมาเดือนก.ย. ต.ค. ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ จนกระทั่งเริ่มมีเสียงเรียกร้องถึงปัญหาราคาตกต่ำออกมา เดือนพ.ย.2560 ก็เลยต้องประชุมคณะอนุกรรมการฯ แบบเร่งด่วนถึง 2 รอบ แต่ก็แทบจะไม่มีความคืบหน้าในด้านมาตรการใดๆ ยกเว้นการเพิ่มปริมาณสำรองไบโอดีเซลที่ดูเข้าท่ามากที่สุด ส่วนการผลักดันให้โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ก็ยังไม่คืบ แล้วยิ่งการผลักดันส่งออก ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
         
มาถึงตรงนี้ ถามว่า ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวนมาก แล้วกรมการค้าภายในทำอะไรอยู่ ไม่เห็นสัญญาณเลยหรือไง คงไม่สามารถตอบแทนกรมการค้าภายในได้ แต่มีตัวเลขมาโชว์ให้เห็นว่า สต๊อกเพิ่มขึ้น และเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไรเป็นหลักฐานยืนยันได้ ดังนี้ ม.ค. 2.93 แสนตัน ก.พ. 2.37 แสนตัน มี.ค. 2.2 แสนตัน เม.ย. 2.74 แสนตัน พ.ค. 3.58 แสนตัน มิ.ย. 4.47 แสนตัน ก.ค. 4.54 แสนตัน ส.ค. 4.42 แสนตัน ก.ย. 4.26 แสนตัน และต.ค. 5.19 แสนตัน ส่วน พ.ย. ยังไม่มีตัวเลข
         
ทันที ที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2560 ทำให้เกิดสุญญากาศในการแก้ไขปัญหาอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ยังทำงานได้ไม่เต็มตัว เพราะต้องรอเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ขณะที่กรมการค้าภายใน ก็เดินหน้าตามมติคณะอนุกรรมการฯ ด้วยการประสานทูตพาณิชย์ให้ตรวจสอบว่ามีตลาดไหน ต้องการซื้อน้ำมันปาล์มบ้าง
         
เมื่อมีอำนาจในการบริหารเต็ม นายสนธิรัตน์ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาทันที เริ่มจากติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน และเรียกประชุมภายในเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2560 เพื่อหารือถึงมาตรการผลักดันราคาผลปาล์ม ซึ่งมีข้อเสนอให้เร่งรัดการส่งออก เพื่อเร่งระบายสต๊อก และให้นำเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาในวันที่ 7 ธ.ค.2560 เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็ให้นำเสนอคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
         
ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ วันที่ 7 ธ.ค. ได้มีการถกเถียงกันอย่างหนักถึงมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการผลักดันการส่งออก ที่มีการเสนอให้อุดหนุนผู้ส่งออก กก.ละ 2 บาท เพื่อเป็นการจูงใจให้ส่งออก แต่มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย จนในที่สุด ก็มีมติให้เร่งผลักดันส่งออก และขอให้กระทรวงพลังงานเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้นำมติเสนอให้ที่ประชุม กนป. พิจารณา ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้ง คือ มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานการประชุม จากเดิมที่เป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดย กนป. เห็นชอบให้เร่งรัดการส่งออกจากเดือนละ 6 หมื่นตัน เป็น 1 แสนตัน และให้กระทรวงพลังงานไปบริหารจัดการเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบอีก 1 แสนตัน ซึ่งจะมีทั้งไปผลิตไบโอดีเซลและนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งจะมีการสรุปผลเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ต่อไป
         
มาตรการนี้ คาดว่าจะช่วยลดปริมาณสต๊อกลง 2 แสนตัน ภายใน 1-2 เดือนนี้ และจะช่วยดึงให้ราคาผลปาล์มดิบจากปัจจุบัน กก.ละ 3.40-3.50 บาท ขยับขึ้นไปเป็น กก.ละ 3.80 บาทตามเป้าหมาย
         
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการผลักดันราคาผลปาล์มดิบจะชัดเจนขึ้นมาแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะการส่งออก ไม่ใช่ว่าจะส่งออกได้ทันที ตอนนี้ขาดทั้งเรือ ทั้งรถขนถ่าย ถึงแม้ว่า กนป. จะกำชับให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก แต่มันก็ไม่ง่ายดังใจคิด ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ปัญหาจะไม่กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด เหมือนอย่างการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่รู้ว่าปัญหากำลังจะเกิดขึ้น แต่ทำอะไรช้าเกินไป 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง