​ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง มิ.ย.68 เพิ่ม 0.3% จากการใช้ในโครงการก่อสร้างรัฐทั้งเก่า-ใหม่

img

สนค.เผยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือน มิ.ย.68 เพิ่ม 0.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือนติด จากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ ทั้งเก่าและใหม่ คาด ก.ค. และไตรมาส 3 ยังคงเพิ่มขึ้น จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ การก่อสร้าง ความต้องการเหล็กมาตรฐาน ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำราคาพลังงานและโลหะภัณฑ์เพิ่มขึ้น  
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มิ.ย.2568 เท่ากับ 113.6 เพิ่มขึ้น 0.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง รวมถึงหลายสินค้ามีต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ไม้ ซีเมนต์ คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ยางมะตอย ดิน ทราย แต่หลายสินค้าก็มีราคาปรับลดลง อาทิ เหล็ก กระเบื้อง สุขภัณฑ์ วัสดุฉาบผิว  
         
สำหรับรายละเอียดดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น มาจากหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่ม 0.9% จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หมวดซีเมนต์ เพิ่ม 4.5% จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต เพิ่ม 0.4% จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ท่อระบายน้ำคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ปูนซีเมนต์ ทราย)



หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เพิ่ม 2.6% จากการสูงขึ้นของสายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายไฟฟ้า VCT และสายไฟฟ้า VAF ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ทองแดง เม็ดพลาสติก) รวมทั้งมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐเพิ่มขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพิ่ม 3.7% จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ (ดิน ทราย) เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างและการซ่อมแซมด้านคมนาคมของภาครัฐเพิ่มขึ้น
         
ส่วนหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลด 3.5% จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย ท่อเหล็กดำ และชีทไพล์เหล็ก เนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่ฟื้นตัว และนโยบายทางภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตเหล็กในหลายประเทศเร่งการส่งออก ส่งผลให้มีอุปทานเหล็กส่วนเกินกดดันราคาวัตถุดิบผลิตเหล็ก (บิลเล็ต เศษเหล็ก) ปรับลดลง หมวดกระเบื้อง ลด 0.6% จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบปูพื้น และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และหมวดสุขภัณฑ์ ลด 2.4% จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสแตนเลส เนื่องจากความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน หมวดวัสดุฉาบผิว ลด 0.8% จากการลดลงของสีน้ำอะครีลิคทาภายใน และสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ปิโตรเคมี) ปรับราคาลดลง
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ก.ค.2568 และไตรมาสที่ 3 ปี 2568 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย คือ การขยายตัวของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ความกังวลเรื่องคุณภาพเหล็กและการเข้มงวดในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ได้มาตรฐานทำให้มีความต้องการเหล็กได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาพลังงาน และราคาโลหะภัณฑ์ (เหล็ก อลูมิเนียม ทองแดง) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีความผันผวนสูง และมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง

 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง