
“รองปลัดกระทรวงพาณิชย์” เผยตั้งคณะทำงานปราบปรามนอมินีระดับจังหวัด เกือบครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว เตรียมลุยตรวจสอบบริษัทเสี่ยงนอมินี 46,918 รายทั่วประเทศ ตามแผนที่ตั้งไว้ ขีดเส้นจบภายใน 1 เดือน จนถึง 1 ปี แล้วแต่มีบริษัทน้อยมาก ลั่นพบความผิดดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด ทั้งกฎหมายต่างด้าวและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ย้ำไม่มีการเกียร์ว่าง แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (ระดับจังหวัด) เปิดเผยว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดได้จัดตั้งคณะทำงานปราบปรามนอมินีระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เกือบครบ 76 จังหวัดแล้ว และได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว และหลังจากนี้ คณะทำงานระดับจังหวัด จะเดินหน้าตรวจสอบธุรกิจ ที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่ 0.001-49.99% จำนวน 46,918 ราย ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้คัดกรองในเบื้องต้นให้เสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายใน 1 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนนิติบุคคลที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด หากพบบริษัทใดเป็นนอมินี จะส่งหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายทันที
“การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระทรวงพาณิชย์มีรัฐมนตรีที่มากำกับดูแลคนใหม่ จะไม่กระทบต่อการปราบปรามนอมินีและธุรกิจผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เร่งดำเนินการปราบปราม เพราะถือเป็นการทำลายธุรกิจไทย และเศรษฐกิจไทย”
ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้ว พบว่า บริษัทใดมีความเสี่ยง จะส่งหนังสือให้นิติบุคคลและกรรมการ เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน เช่น แหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุน ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของกรรมการไทยและต่างด้าว เป็นต้น หากนิ่งเฉยหรือไม่ชี้แจงใด ๆ จะส่งหนังสือฉบับที่ 2 ให้ชี้แจงภายใน 10 วัน และหากยังนิ่งเฉยหรือไม่ชี้แจงอีก จะมีความผิด โดยจะถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และคำสั่งของสารวัตรบัญชีภาใต้ พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543
ร.ต.จักรากล่าวว่า ในการตรวจสอบบริษัทเสี่ยงของคณะทำงานระดับจังหวัด มีข้อดี คือ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอยู่ในคณะทำงานด้วย ทำให้เอาผิดกับบริษัทเสี่ยงได้ตามกฎหมายของทุกหน่วยงาน เช่น หากพบว่า ต่างด้าวทำธุรกิจบริษัททัวร์ และมีไกด์โดยไม่ขออนุญาต นอกจากจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กรณีนอมินี (ให้คนไทยถือหุ้นแทนเพื่อให้ทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงกฎหมาย) จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน แล้วยังจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือกรณีทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจะผิด พ.ร.บ.ต่างด้าวแล้ว ยังจะผิดกฎหมายที่ดินอีกด้วย
สำหรับกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบ จังหวัดที่มีนิติบุคคลเสี่ยง 1-35 ราย มี 48 จังหวัด ตรวจสอบให้เสร็จภายใน 1 เดือน , นิติบุคคล 36-100 ราย ใน 11 จังหวัด ตรวจภายใน 2 เดือน , นิติบุคคล 101-400 ราย 6 จังหวัด ตรวจภายใน 3 เดือน , นิติบุคคล 401-900 ราย 4 จังหวัด ตรวจภายใน 6 เดือน , นิติบุคคล 901-6,500 ราย 3 จังหวัด ตรวจภายใน 6-9 เดือน และนิติบุคคล 6,501-15,000 ราย 4 จังหวัด ตรวจภายใน 1 ปี โดยจังหวัดที่มีนิติบุคคลเสี่ยงสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี 14,264 ราย , กรุงเทพฯ 10,193 ราย , สุราษฎร์ธานี 7,096 ราย และภูเก็ต 6,682 ราย ซึ่งทั้งหมดจะเน้นตรวจสอบใน 6 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ 1.ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2.ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจ e-Commerce ขนส่งและคลังสินค้า 4.ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต 5.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และ 6.ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง