
“พิชัย”แนะผู้ประกอบการ ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ทั้งมาตรการ AD , CVD , AC และ SG ป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพและไม่เป็นธรรม ยันจะเดินหน้าช่วยเพิ่มศักยภาพส่งออก เร่งเจรจา FTA ใหม่ ทั้งอียู เกาหลีใต้ แคนาดา ส่วนมาตรการภาษีสหรัฐฯ เสนอแผนเจรจาไปแล้ว รอหารือกันเร็ว ๆ นี้
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเปิดงานสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “Navigating the new trade order : ทิศทางการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าในยุคระเบียบการค้าโลกใหม่” จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ ว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพภาคเอกชนไทย ให้สามารถรับมือปัญหาสินค้านำเข้าที่ด้อยคุณภาพและไม่เป็นธรรม และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ สามารถขอให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ ได้ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD-CVD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) และมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard - SG) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้ความดูแลผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเสริมศักยภาพในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย โดยจะเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอีกหลายประเทศ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-เกาหลีใต้ และอาเซียน-แคนาดา เพื่อขยายตลาดส่งออก และกระจายความเสี่ยงจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการเตรียมแผนเจรจากับสหรัฐฯ และเสนอแผนให้สหรัฐฯ ไปแล้ว คาดว่าจะได้มีการเจรจากันในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ยังจะมีการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย การเฝ้าระวังสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ และตรวจสอบบริษัทที่เข้าข่ายนอมินี เพื่อป้องกันผู้บริโภคคนไทย และการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการไทย
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ จะทำให้ภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้มาตรการปกป้องทางการค้า ทั้ง AD , CVD , AC และ SG เพื่อป้องกันอุตสาหกรรมภายในประเทศได้ดีขึ้น และสามารถต่อสู้กรณีที่อุตสาหกรรมถูกใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยกรมยืนยันว่า พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ กรมยังได้ชี้แจงแผนการป้องกันผลกระทบจากการเบี่ยงเบนทางการค้าจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยจะเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทยอย่างเข้มงวด รวมถึงได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ประกอบการ ในการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อขยายการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ด้วย
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง