
“นภินทร”เข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าทางเศรษฐกิจและการค้านานาชาติฮาร์บิน ครั้งที่ 34 ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ในวาระครบรอบ 50 ปี ไทย-จีน ยันไทยพร้อมเดินหน้าร่วมมือการค้า การลงทุน ความร่วมมือเศรษฐกิจกับจีนต่อเนื่อง พร้อมมอบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พิจารณานำ SME ไทยเข้าร่วมงานในปีต่อ ๆ ไป
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าทางเศรษฐกิจและการค้านานาชาติฮาร์บิน (Harbin International Economic and Trade Fair : HTF) ครั้งที่ 34 ที่ Harbin International Conference and Exhibition Center เมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ตนในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติเป็นประเทศแขกกิตติมศักดิ์ในงาน HTF ที่จัดขึ้นในโอกาสสำคัญครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยได้ย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในฐานะที่ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันหลายปี ด้วยมูลค่าการค้ารวมกว่า 8.1 แสนล้านหยวน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และยางพารา ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
ทั้งนี้ ได้ใช้เวทีนี้ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-จีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยได้นำเสนอ 3 แนวทางสำคัญ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงระดับนโยบาย ผ่านกลไกความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยและหน่วยงานด้านการค้าของจีน 2.การสนับสนุน SME และเกษตรกรไทย ให้เข้าถึงตลาดจีนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมมาตรฐานสินค้า การสร้างแบรนด์ และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ และ 3.การพัฒนาแพลตฟอร์มเศรษฐกิจการค้าอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวคิด BCG Economy ที่เน้นการเติบโตควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทั้งสองประเทศ และยังได้แสดงความพร้อมในการขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาค ผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรี เช่น อาเซียน-จีน และ RCEP ซึ่งช่วยเปิดประตูสู่ตลาดจีนกว้างขึ้น
“การเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีน แต่ยังตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดของจีน พร้อมเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ ที่มั่นคงและยั่งยืนร่วมกัน”นายนภินทรกล่าว
นายนภินทรกล่าวว่า ยังได้เข้าเยี่ยมชมบูธไทยพาวิลเลียนในงาน HTF โดยถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ได้มีการนำเสนอข้าวไทย ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวนุ่ม พร้อมสินค้าเกษตรแปรรูปและเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน โดยภายในงานยังมีการสาธิตปรุงอาหารไทยโดยเชฟมืออาชีพ และประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้าใจและภาพลักษณ์ที่ดีของอาหารไทย
สำหรับเฮยหลงเจียง เป็นแหล่งผลิตธัญพืชสำคัญ เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง และข้าวโพด ซึ่งไทยมีศักยภาพนำเข้า รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและแรงงานของเกษตรกรไทย และยังพบว่า ตลาดผลไม้ไทยในพื้นที่ดังกล่าว มีโอกาสเติบโตสูง แม้ปัจจุบันชาวเฮยหลงเจียงจะรู้จักเพียงทุเรียน โดยกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการใช้ระบบขนส่งทางรางที่สะดวก เชื่อมใต้สู่เหนือของจีน เพื่อขยายตลาดผลไม้ไทยในอนาคต
งานแสดงสินค้า HTF จัดมาแล้ว 34 ครั้ง เป็นงานแสดงสินค้าที่เก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งที่จัดขึ้นในจีน จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ต่อเนื่องมานานกว่า 35 ปี จัดปีละ 1 ครั้ง ระหว่างฮาร์บิน กับเมืองต่าง ๆ ในรัสเซีย ซึ่งเป็นเวทีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการเชื่อมต่อทางอุตสาหกรรม ระหว่างประเทศจีนกับประเทศรอบด้าน รวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและอาเซียน มีประเทศและภูมิภาคเข้าร่วมมากกว่า 110 ประเทศ มีนักธุรกิจชาวจีนและชาวต่างชาติมากกว่า 6 ล้านคนเข้าร่วมงาน ซึ่งการจัดงานเป็นทั้งรูปแบบการเจรจาการค้าและการค้าปลีก
ในการเข้าร่วมงานปี 2568 ไทยได้จัด Thai Pavilion พื้นที่รวม 135 ตร.ม. ในโซน A แสดงสินค้าข้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากข้าวไทย และ Thai SELECT และมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานด้วยตนเอง จำนวน 4 บริษัท ออกคูหาบริเวณ โซน D สินค้า ได้แก่ ทุเรียนสด ยาสีฟันดอกบัวคู่ เครื่องปรุงยี่ห้อสวยมาก ๆ ครีมบำรุงผิว บาล์มสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ เป็นต้น ซึ่งได้ขอให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปพิจารณาสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ของไทย ให้มีโอกาสเข้าร่วมงานในปีต่อ ๆ ไปแล้ว
การจัดงาน HTF ในปี 2568 นี้ ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1.นิทรรศการความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน 2.นิทรรศการความร่วมมือระดับจังหวัด อำเภอ และเทศบาล และการฟื้นฟูของมณฑลเฮยหลงเจียง 3.นิทรรศการอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์และการผลิตอัจฉริยะ 4.นิทรรศการการบริโภคระหว่างประเทศ และฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน และ 5.นิทรรศการอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green food) และวัฒนธรรมอาหาร รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ได้แก่ การเจรจาการค้า การเชื่อมต่ออุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน ความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและการบริโภค
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง