
คณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร เคาะใช้สโลแกน THINK Wellness THINK Thai Herb หรือคิดถึงสุขภาพ คิดถึงสมุนไพรไทย สร้างการรับรู้ จดจำ ให้กับลูกค้าไทยและต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้ใช้สมุนไพรไทย ทั้งในร้านนวดไทยและสปาไทยทั่วโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ให้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีคณะอนุกรรมการเข้าร่วมประชุม ที่ประกอบไปด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กรมศุลกากร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นสำคัญใน 2 เรื่องคือ 1.แผนการเพิ่มการสื่อสารและตระหนักรู้แก่สาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศ ผ่านสโลแกน THINK Wellness THINK Thai Herb หรือ คิดถึงสุขภาพ คิดถึงสมุนไพรไทย เป็น Key Message ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกร่วมกัน ประกอบกับสร้างภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทยที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ คุณภาพชีวิต และการดูแลตนเองอย่างยั่งยืน โดยกำหนดจัดงานเปิดตัว THINK Wellness THINK Thai Herb ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ในวันที่ 4 ก.ค. 2568 ณ อาคาร 11-12 อิมแพค เมืองทองธานี
2.แผนการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้ร้านนวดไทยและร้านสปาในต่างประเทศนำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบสมุนไพรไปใช้ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันได้ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์สมุนไพรในหลากหลายมิติ ไม่ใช่เฉพาะด้านอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ขยายไปถึงการดูแลสุขภาพ ผิวพรรณ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า จึงมองสมุนไพรไทยเป็นมากกว่าสินค้าในท้องถิ่น และจะสร้างให้เป็นสินค้าสำหรับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ด้วย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังร้านนวดไทยและร้านสปาที่มีอยู่ทั่วโลก รวมถึงร้านสปาที่มีชื่อเสียงของไทย ซึ่งให้บริการที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ เช่น นวดไทย นวดน้ำมัน นวดขัดผิวหน้า ผิวกาย นวดประคบสมุนไพร เป็นต้น พร้อมผลักดันให้ร้านนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมาใช้ประกอบการให้บริการ อาทิ ลูกประคบสมุนไพรไทย ผลิตภัณฑ์บาล์ม ครีมสครับผิว น้ำมันหอมระเหย ก้านไม้หอม เครื่องพ่นกลิ่นอโรม่า และชาสมุนไพร เป็นต้น
“การนวดแผนไทยยังได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ดังนั้น การผลักดันสมุนไพรไทยให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าในร้านนวดแผนไทยที่มีอยู่ทุกมุมโลกก็จะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติได้มีโอกาสรู้จักและสัมผัสถึงคุณภาพของสมุนไพรไทยอย่างใกล้ชิด”
นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียและอาเซียน มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีในด้านสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก และความงาม ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้จุดแข็งของสมุนไพรไทยเจาะตลาดได้อย่างตรงกลุ่ม ด้วยภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ และคุณภาพที่ได้มาตรฐานในระดับสากล รวมถึงตลาดตะวันออกกลางที่ให้ความสนใจอย่างมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์อโรม่า เทอราพี (aromatherapy) และสมุนไพรจากธรรมชาติ
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรม Wellness ปี 2566 มีมูลค่ารวม 6.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6.03% ของ GDP โลก คาดว่าระหว่างปี 2566-2571 อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP โลกที่คาดไว้ที่ 4.8% และในอนาคตปี 2571 อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และภาพรวมอุตสาหกรรมสปาปี 2566 ทั่วโลกมีสถานประกอบการ 191,348 แห่ง สร้างรายได้รวมประมาณ 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนอุตสาหกรรมสปาและนวดของประเทศไทย ต่างได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นผู้นำทางด้านนี้ โดยปี 2565 ไทยมีสถานประกอบการด้านสุขภาพจดทะเบียนจำนวน 10,077 แห่ง มีบุคลากรผู้มีใบอนุญาตประมาณ 190,000 คน และในปี 2566 สร้างรายได้จากตลาดสปาอยู่ที่ 1.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง