กรมพัฒน์เผยธุรกิจทำบุญออนไลน์ เห็นแววรุ่ง หลังคนชอบทำบุญ แต่ไม่อยากไปวัด

img

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยธุรกิจทำบุญออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตสูง ตอบสนองคนชอบทำบุญ แบบไม่ต้องเดินทางไปวัด ระบุเริ่มมีหลายธุรกิจเปิดให้บริการ ทำบุญออนไลน์แล้ว ทั้งการถวายสังฆทาน ปล่อยปลา ทำบุญเลี้ยงพระ ส่วนธุรกิจนำเที่ยวสายบุญ ก็มีโอกาสขยายตัวเช่นเดียวกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีวันพระใหญ่ที่เป็นวันหยุดราชการถึง 4 วันต่อปี อย่างเช่นช่วงเวลานี้เป็นวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธก็จะถือโอกาสออกไปทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ไหว้พระขอพรที่วัด ประกอบกับยังมีเทศกาลอื่น ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปทำบุญไม่ว่าจะเป็น วันเกิด การขอพรพระให้หายจากอาการเจ็บป่วย การสอบแข่งขัน งานบวช การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไปจนถึงการจัดงานศพ และจัดกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ชาวพุทธก็ยังเลือกที่จะเดินเข้าวัดเพื่อไปทำบุญ

ทั้งนี้ ความน่าสนใจ คือ รูปแบบการทำบุญของชาวพุทธในยุคสมัยนี้ ได้ปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับวิถีชีวิตมากขึ้น จากการทำบุญแบบเดิมที่ต้องซื้อของใช้ทำบุญถวายสังฆทาน หรือการเดินทางไปยังวัดหรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อบริจาคเงิน หรือปล่อยสัตว์ตามความเชื่อ กลับกลายเป็นการทำบุญในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำบุญออนไลน์ ตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่



“ปัจจุบันการทำบุญในรูปแบบออนไลน์ได้เข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้ ธุรกิจหลายรายได้ปรับตัวให้ผู้บริโภคมีช่องทางการทำบุญแบบออนไลน์ โดยเฉพาะเพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่อาจมีภารกิจมากหรือไม่สะดวกในการไปทำบุญด้วยตนเอง ก็อาจใช้บริการให้ผู้อื่นทำแทน ตั้งแต่การเลือกชุดสังฆทานที่มีสินค้าหลากหลายผ่านทางออนไลน์ ไปจนถึงการนำชุดสังฆทานไปถวายวัดให้โดยใช้บริการของร้านหรือการบริการปล่อยปลา หรือแม้กระทั่งธุรกิจการจัดทำบุญเลี้ยงพระ ก็มีบริการให้เลือกหลายหลากตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน”

นอกจากนี้ ธุรกิจจัดนำเที่ยวสายบุญ ก็มีโอกาส เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ท่องเที่ยวอิ่มบุญแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ลงลึกไปยังธุรกิจท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกประจำท้องถิ่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ช่วยหนุนรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างงานในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย

สำหรับตัวอย่างผู้ประกอบการที่ปรับตัวใช้ช่องทางการทำบุญออนไลน์ นำเสนอสินค้า เช่น ชุดสังฆทานอุปกรณ์ห้องน้ำของบริษัทผลิตอุปกรณ์ในห้องน้ำ และชุดสังฆทานเครื่องมือแพทย์ของบริษัทเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการที่ขายสังฆภัณฑ์ หรือเครื่องสังฆทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง ยา เครื่องอัฐบริขาร ผ้าไตร จีวร ของใช้ที่จำเป็น สบู่ ยาสีฟัน รองเท้า มีดโกน หลอดไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็สามารถนำสินค้ามาขายในรูปแบบทำบุญออนไลน์ได้

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง