
“พาณิชย์”ลงพื้นที่ติดตามโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยเคมีเพื่อเกษตรกร ปี 2568 ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เผยเกษตรกรสั่งซื้อปุ๋ยแล้ว 1 ล้านกระสอบ ช่วยลดต้นทุนกว่า 30 ล้านบาท ชวนพี่น้องเกษตรกรสั่งซื้อ เตรียมความพร้อมรับฤดูกาลเพาะปลูก มีขายจนถึง 30 ก.ย.นี้ รวมทั้งสิ้น 10.06 ล้านกระสอบ
นายวรวงศ์ รามางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2568 ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ลงพื้นที่ติดตามผลโครงการ “พาณิชย์ลดราคาปุ๋ยเคมีเพื่อเกษตรกร ปี 2568” ณ สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีนางฐิติมา ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมให้การต้อนรับและติดตามการดำเนินโครงการ โดยโครงการนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากเกษตรกรทั่วประเทศ ล่าสุดมียอดสั่งซื้อปุ๋ยแล้วกว่า 1 ล้านกระสอบ ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรคิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
สำหรับปุ๋ยที่เกษตรกรสั่งซื้อ ครอบคลุมพืชทุกชนิด ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน และไม้ผล โดยเฉพาะสูตรสำคัญที่ใช้ในนาข้าว เช่น 46-0-0, 0-0-60, 16-20-0 และ 15-15-15
โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ผลิตและผู้นำเข้าปุ๋ยเคมี 26 บริษัท จาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ลดราคาปุ๋ยเคมี 79 สูตร เฉลี่ยกระสอบละ 20-50 บาท รวมปริมาณ 10.06 ล้านกระสอบ (503,000 ตัน) เริ่มโครงการตั้งแต่ 10 เม.ย.-30 ก.ย. 2568 ซึ่งเกษตรกรสามารถสั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนในพื้นที่
นายวรวงศ์กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยวได้สั่งซื้อปุ๋ยไปแล้วกว่า 200,000 กระสอบ และมีแผนสั่งซื้อเพิ่ม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตในพื้นที่ จึงขอเชิญชวนเกษตรกรร่วมสั่งซื้อผ่านสถาบันของตน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนฤดูเพาะปลูก โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.dit.go.th หรือสอบถามที่พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์เจียไต๋เอ็กซ์พีเรียนซ์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว โดยชื่นชมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โดรนทางการเกษตร มาปรับใช้ เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยสู่การเป็นมืออาชีพ ซึ่งจะผลักดันให้ศูนย์แห่งนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง