
GIT ลุยโครงการ “มาเหนือ” เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับท้องถิ่น ตั้งเป้าคัด 22 แบรนด์นำไปพัฒนาเข้ม ก่อนผลิตเป็นชิ้นงานจริง และนำโชว์ในพิพิธภัณฑ์ งานพลอยจันทบุรี และบางกอก เจมส์ มั่นใจช่วยเปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แน่
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ในปี 2568 GIT ได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับไทยในภูมิภาค (มาเหนือ) เพื่อตามค้นหาเครื่องประดับท้องถิ่น ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ในพื้นที่ภาคเหนือ และเมื่อได้ผู้ประกอบการแล้ว ก็จะเข้าไปช่วยอบรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ชัดเจน สะท้อนความงดงามของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกตีความใหม่ด้วยมุมมองร่วมสมัย และสามารถผลิตเป็นชิ้นงานเปิดตัวออกสู่ตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยในปี 2568 นี้ GIT ได้ตั้งเป้าที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเครื่องประดับท้องถิ่นให้ได้ 22 แบรนด์ ซึ่งทั้ง 22 แบรนด์นี้จะถูกคัดเลือกโดยคณะกรรมการ เพื่อนำไปต่อยอดชิ้นงานต้นแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และนำไปผลิตเป็นชิ้นงานจริง จากนั้นจะช่วยเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจและเปิดตัวออกสู่ตลาด ทั้งการนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับของ GIT และนำไปจัดแสดงในงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี ที่ จ.จันทบุรี
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 10 แบรนด์ จะได้ออกงานแสดงสินค้าจิวเวลรีและเครื่องประดับ Bangkok Gems and Jewelry Fair ในเดือน ก.ย.2568 หรืองานนิทรรศการอื่น ๆ ในมาตรฐานเดียวกันจำนวน 1 ครั้งด้วย
นายสุเมธกล่าวว่า GIT ได้ลงพื้นที่ไปยัง จ.เชียงใหม่มาแล้ว โดยได้จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ช่างฝีมือ และผู้ประกอบการ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ไขรหัสความลับอัญมณีและโลหะมีค่า จากแหล่งกำเนิดสู่ตลาดโลก ความรู้ที่นักออกแบบและผู้ประกอบการเครื่องประดับ ต้องรู้ , ศิลปะและอัตลักษณ์ในเครื่องประดับระดับสากล , การสร้างแนวคิดการออกแบบเครื่องประดับที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น , วัสดุอัจฉริยะกับเครื่องประดับแห่งอนาคต เทรนด์วัสดุใหม่และเทคนิคการสร้างสรรค์ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรม , พลิกเกมการตลาดเครื่องประดับในยุคดิจิทัล กลยุทธ์สร้างแบรนด์และเพิ่มยอดขายด้วย AI และแพลตฟอร์มออนไลน์
“GIT มั่นใจว่า โครงการมาเหนือที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันเครื่องประดับท้องถิ่น ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวเข้าสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น เพราะหลังเข้าไปช่วยพัฒนา จะทำให้เครื่องประดับมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ สวมใส่ได้ง่าย และหลากหลายโอกาส แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และยังจะช่วยผลักดันต่อยอดให้ชุมชน หรือแหล่งผลิตเครื่องประดับ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้เข้ามาเยี่ยมชม ก่อเกิดรายได้ให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น”นายสุเมธกล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง