
สนค.เผยดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน เม.ย.68 ลดลง 3.2% จากการลดลงของสินค้าทุกหมวด ทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากการแข่งขันสูงในตลาดโลก ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตภาพรวมลด และความต้องการลดจากการค้าโลกที่ไม่แน่นอน คาด พ.ค.ยังทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือน เม.ย.2568 เท่ากับ 110.2 ลดลง 3.2% โดยมีสาเหตุจากการหดตัวของราคาสินค้าในทุกหมวด ทั้งหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่ยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่สูงในตลาดโลก และอุปทานส่วนเกินที่สูง ส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีทิศทางเคลื่อนไหวตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตในภาพรวมที่ลดลง ประกอบกับอุปสงค์ที่ลดลงจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศตามภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน
สำหรับรายละเอียด หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลง 6.5% จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก อ้อย จากฐานราคาของปีก่อนที่สูงจากภาวะแล้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่สูงในปีนี้ ส่งผลให้ราคาลดลง หัวมันสำปะหลังสด จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามความต้องการที่ลดลงในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ยางพารา จากราคาส่งออกในปีนี้ที่ลดลงตามภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน พืชผัก (มะนาว พริก กระเทียม) จากฐานของปีก่อนที่สูงจากภาวะแล้ง และโคมีชีวิต จากความต้องการบริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มลดลง
ส่วนสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเหนียว จากความต้องการบริโภคในประเทศที่สูงขึ้น ผลปาล์มสด จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่มีน้อย ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลไม้ (ทุเรียน มะพร้าว สับปะรดโรงงาน) จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สุกรมีชีวิต จากปริมาณผลผลิตในภาพรวมที่ลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น และกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีน้อยจากต้นทุนการเพาะเลี้ยงที่สูงขึ้น
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 3.0% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก สินแร่โลหะ (แร่เหล็ก สังกะสี) จากการชะลอตัวของอุปสงค์ และการแข่งขันในตลาดโลก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการทำเหมือง (ยิปซัม เกลือ) จากอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง
หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลง 2.8% จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น เอทานอล สารพอลิเมอร์และสารเคมีอินทรีย์อื่น ๆ ปุ๋ยเคมี และยางสังเคราะห์ ปรับราคาตามวัตถุดิบที่ลดลง กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น ท่อเหล็กกล้า เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี เนื่องจากวัตถุดิบที่ปรับลดลง การแข่งขันและอุปสงค์ที่ชะลอตัว และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและวงจรรวม Integrated Circuit (IC) อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และอุปกรณ์รับข้อมูล แสดงผล ปรับตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง
ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เคลื่อนไหวตามอุปสงค์ของตลาดโลก กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถกระบะ รถบรรทุกขนาดเล็กและรถบรรทุกขนาดใหญ่ ปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ สายไฟ สายเคเบิล ซึ่งมีการปรับราคาตามวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ อิฐก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ซีเมนต์ผสม จากปริมาณอุปสงค์การก่อสร้างในประเทศที่เพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค.2568 มีแนวโน้มทรงตัว หรืออาจหดตัวเล็กน้อย โดยมีปัจจัยกดดันจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเข้ามาเพิ่มขึ้นจากการระบายสินค้าอุปทานส่วนเกินของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ กดดันราคาสินค้าของผู้ผลิตในประเทศ การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร กดดันราคาผลผลิตทางการเกษตรในภาพรวมต่อเนื่อง ราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตสินค้าทุนในประเทศ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในห่วงโซ่อุปทาน และค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่า กระทบต่อราคาสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก
ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือราคาผลผลิตทางการเกษตรของภาครัฐ แต่ก็ต้องจับตา มาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใด ซึ่งจะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง