
“พาณิชย์”ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ-เอกชน ตั้งโต๊ะแถลงแนวทางรับมือ “ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีคู่ค้า ประเมินเบื้องต้น ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐฯ เฉลี่ย 11% หากเจอขึ้นเท่ากัน ไทยเสียหาย 2.3-2.7 แสนล้านบาท ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์กระทบ เผยไทยพร้อมเจรจา ลดภาษีและเพิ่มนำเข้าข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อ เครื่องใน สุรา ดึงการบินไทยซื้อ-เช่าเครื่องบิน ปตท.ซื้อพลังงาน หนุนไปลงทุนสหรัฐฯ เพิ่ม พร้อมจับตาสินค้าเข้ามาสวมสิทธิ์ไทย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการเตรียมพร้อมรับมือนโยบายการค้าและการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ ที่จะเริ่มประกาศช่วงตี 4 ของเช้าวันที่ 3 เม.ย.2568 ตามเวลาประเทศไทย โดยประเมินว่ามาตรการด้านภาษีจากสหรัฐฯ จะออกมาใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การขึ้นภาษีรายประเทศ 2.การขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า 3.การขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีปัญหายาเสพติดและการอพยพเข้าเมือง และ 4.การขึ้นภาษีตอบโต้ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ทยอยขึ้นภาษีไปแล้ว และที่กระทบกับไทย คือ การขึ้นสินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2568 เป็น 25% ซึ่งไทยได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะขึ้นภาษีทุกประเทศเท่ากันหมด
โดยสิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในวันที่ 3 เม.ย.2568 จาก 0-4.9%เป็น 25% และขึ้นภาษีเพิ่มเติม 2-3 รายการ ได้แก่ สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อาจขึ้นเป็น 25% ผลิตภัณฑ์ยา ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า รวมถึงการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทย ที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐฯ อีกหลายรายการ ซึ่งปัจจุบัน ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐฯ เฉลี่ย 11% หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเท่ากับไทยทั้งหมด จะทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.3-2.7 แสนล้านบาท โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลโดยน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ขึ้นทันที เพื่อร่วมกับภาคเอกชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และการทำงานได้เดินทางเข้าพบสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สภาคองเกรส สมาชิกวุฒิสภา เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอนแนะ รวมถึงติดต่อไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอเจรจา แต่จะเป็นเมื่อไรขึ้นอยู่กับการตอบกลับของสหรัฐฯ
สำหรับแนวทางเจรจา ไทยอาจปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า เช่น การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อและเครื่องใน สุรา รวมถึงประสานให้การบินไทยเช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐฯ ตลอดจนให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไทยคงไม่สามารถลดภาษี หรือนำเข้าเพื่อแก้การดุลการค้า 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ทั้งหมด จึงต้องเจรจาทุกมิติ นอกเหนือจากการค้า เพราะไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มายาวนาน จึงใช้มิติภูมิรัฐศาสตร์ การสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงในสหรัฐฯ เพิ่ม ทั้งอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน จากปัจจุบันที่มีการลงทุนใน 20 มลรัฐ จ้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง
“การลดภาษีและนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยผลิตได้ไม่เพียงพอ และต้องนำเข้าอยู่แล้ว และขอยืนยันว่าแนวทางการการเจรจากับสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งประชาชน ผู้ผลิต เกษตรกร ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ด้วยความรอบคอบ และยึดหลักการ เน้นผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อสร้างสมดุลทั้งสองประเทศ“นายวุฒิไกรกล่าว
ส่วนข้อกังวลของสหรัฐฯ เรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าไทยไปสหรัฐฯ ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศได้ขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิ์ประเทศไทยแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก และยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 2 แนวทาง คือ ระยะสั้น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และระยะยาว การหาตลาดการค้าใหม่ รวมถึงการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และอาเซียน-แคนาดา ที่จะผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ สอท.เป็นห่วง คือ เรื่องสินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิ์สินค้าไทยเพื่อส่งออก ซึ่งสหรัฐฯ จับตาค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แม้ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก แต่ดัชนีการผลิตในประเทศกลับลดลง สวนทางตัวเลขการนำเข้าจากจีน ที่เดือน ม.ค.2568 เพิ่มขึ้น 20% อาทิ เหล็ก ยางรถ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาใช้สิทธิ์ส่งออก หรือนำวัตถุดิบมาผลิต แต่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 10-20% ที่เหลือเป็นวัตถุดิบจากจีนถึง 70-80% สอท.จึงร่วมกับสมาชิกตั้งทีมติดตามดูอย่างใกล้ชิด
นายพจน์ อร่ามวัฒนนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหาร พบว่า ไทยเกินดุลสหรัฐฯ 142,654 ล้านบาท ซึ่งไทยควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ และยังมีความกังวลว่าหลังจากนี้ อาจมีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่อาเซียนและไทย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตและส่งออกของไทยมากขึ้น
“เอกชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่จะไม่กระทบต่อคู่ค้าและเกษตรกรภายในประเทศ คือ กลุ่มพืชอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง เพราะที่ผ่านมา ไทยผลิตไม่เพียงพออยู่แล้ว และช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีต้นทุนที่ถูกลง กลุ่มสินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเซลล์ และปลาทูน่า ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปได้ กลุ่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก และต้องเร่งเจรจา FTA ต่าง ๆ ให้สำเร็จโดยเร็ว”นายพจน์กล่าว
นายสมภพ พันธนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยกับสหรัฐฯ มีความร่วมมือด้านพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยปี 2567 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ และล่าสุดได้มีการลงนามนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 ล้านตันต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี รวมมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ และ ปตท. ยังมีการลงทุนในสหรัฐ 1.2 พันล้านบาท ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงขยายการลงทุนไปรัฐอลาสก้าด้วย
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง