
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตือนนิติบุคคลตรวจสอบสถานะของผู้ทำบัญชี ต้องมีสถานะ “คงอยู่” เท่านั้น ถึงจะสามารถจัดทำบัญชีได้ หากส่งงบการเงินโดยผู้ทำบัญชีไม่มีสถานะ เจอโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ส่วนผู้ทำบัญชี ก็ต้องแจ้งรายชื่อนิติบุคคลที่ตัวเองทำบัญชีด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือน พ.ค. ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่นิติบุคคลนำส่งงบการเงินต่อกรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีนี้มีนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2567 และต้องนำส่งงบการเงินจำนวน 867,911 ราย โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พ.ค.2568 และปัจจุบันมีนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินผ่านระบบ e-Filing คิดเป็น 99.8% ของนิติบุคคลที่นำส่งงบแล้ว จำนวน 69,508 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของนิติบุคคลที่เข้าถึงเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ เพียงกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วนและกดส่งได้ทันที
ทั้งนี้ แม้การส่งงบการเงินจะง่ายมากขึ้น แต่กรมขอให้นิติบุคคลตรวจสอบสถานะของผู้ทำบัญชีให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อความถูกต้องของข้อมูล ลดความผิดพลาดต่าง ๆ ของงบการเงิน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งที่กรมพบเจอจากเอกสารแบบ ส.บช.3 ที่ใช้ประกอบการส่งงบการเงิน ซึ่งนิติบุคคลต้องระบุชื่อผู้ทำบัญชีให้ชัดเจน คือ สถานะของผู้ทำบัญชีที่แจ้งมาไม่ตรงตามปัจจุบัน โดยสถานะที่สามารถจัดทำบัญชีได้ จะต้องปรากฏว่า “คงอยู่” เท่านั้น แต่หากผู้ทำบัญชีขึ้น 5 สถานะ นิติบุคคลจะต้องดำเนินการแจ้งผู้ทำบัญชีให้แก้ไขก่อนยื่นงบการเงิน
โดยทั้ง 5 สถานะ ได้แก่ 1.ขาดคุณสมบัติ เป็นการขาดต่ออายุสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี กรณีต่ออายุสมาชิกแล้ว ให้ผู้ทำบัญชีเข้าระบบ e-Accountant เพื่ออัพเดทสถานะของการเป็นสมาชิกสภาฯ และกรณีที่ยังไม่ได้ต่ออายุสมาชิกสภาฯ ให้ผู้ทำบัญชีรีบดำเนินการต่ออายุสมาชิกให้เรียบร้อย 2.ยกเลิกการแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี คือ ผู้ทำบัญชีได้ยกเลิกการเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว 3.พักการขึ้นทะเบียน/สมาชิก ผู้ทำบัญชีอยู่ระหว่างถูกลงโทษพักการประกอบวิชาชีพทำบัญชีจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ 4.เพิกถอนการขึ้นทะเบียน/สมาชิก ผู้ทำบัญชีถูกลงโทษห้ามประกอบวิชาชีพทำบัญชีจากคณะกรรมการจรรยาบรรณ และ 5.ถึงแก่กรรม
สำหรับโทษทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 นิติบุคคลในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี หากส่งงบการเงินโดยที่ผู้ทำบัญชีไม่อยู่ในสถานะคงอยู่ อาจต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และผู้ทำบัญชีจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ.วิชาชีพบัญชีพ.ศ. 2547 กรณีประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีโดยไม่เป็นสมาชิกสภาฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีผู้ทำบัญชีที่ฝ่าฝืนประกอบวิชาชีพระหว่างการถูกลงโทษพักหรือเพิกถอนการขึ้นทะเบียนสมาชิก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ควรตรวจสอบไปถึงการแจ้งรายชื่อนิติบุคคลของผู้ทำบัญชี หากผู้ทำบัญชียังไม่ได้แจ้งเป็นผู้ทำบัญชีของธุรกิจที่กำลังนำส่งงบการเงิน ระบบ DBD e-Filing จะแจ้งข้อความเตือนขึ้นมา โดยขอให้ผู้ทำบัญชีดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน ทั้งนี้ นิติบุคคลสามารถตรวจสอบการแจ้งได้จากเว็บไซต์ www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> ผู้ทำบัญชี >> ตรวจค้นข้อมูลผู้ทำบัญชีของนิติบุคคล และระบบจะให้กรอกเลขนิติบุคคล จากนั้นจะปรากฏรายชื่อของผู้ทำบัญชีขึ้นมา กรณีผู้ทำบัญชีจะตรวจสอบรายชื่อธุรกิจที่แจ้งรับทำบัญชีสามารถเข้าระบบ e-Accountant เลือกข้อมูลผู้ทำบัญชี >> การแจ้งทำบัญชี หากผู้ทำบัญชีไม่แจ้งรายชื่อนิติบุคคลที่รับทำบัญชี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายงานผู้ทำบัญชี กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 4395 สายด่วน 1570 อีเมล [email protected] หรือดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง