“พาณิชย์”รับลูกนายกรัฐมนตรี จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการบุหรี่ไฟฟ้าเต็มสูบ

img

กรมการค้าต่างประเทศรับข้อสังการนายกรัฐมนตรี เผยมีกฎหมายคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันยังบังคับใช้อยู่ และได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุม ดูแล และดำเนินการตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ส่วนข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้แต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ ทำไม่ได้ เหตุเป็นเรื่องส่งออกนำเข้า แนะใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และกฎกระทรวง เพื่อจัดการปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาแทน
         
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการปราบบุหรี่ไฟฟ้าตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า กระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า คือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ซึ่งปัจจุบันยังมีผลบังคับใช้ และยังได้ประชุมหารือมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมควบคุมโรค เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นไปอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
         
ทั้งนี้ หากพบการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษตามกฎหมายของหน่วยงานอื่น อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ผู้ขายหรือผู้ให้บริการบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 กรณีรับบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งนำเข้ามาโดยไม่ผ่านด่านศุลกากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่า ของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
         


นางอารดากล่าวว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ เพื่อให้มีอำนาจในการตรวจค้นและยึดบุหรี่ไฟฟ้าจากนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้สามารถควบคุมการระบาดในสถานศึกษา ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ มีวัตถุประสงค์หลักในการบังคับใช้กับผู้ส่งออกนำเข้าสินค้า ไม่ครอบคลุมถึงการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นของที่ผิดกฎหมาย
         
นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ ยังต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการค้าและการนำเข้าส่งออกสินค้า ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว อีกทั้ง พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษอาญาร้ายแรง โดยหากมีการบังคับใช้แล้ว จะต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งอาจนำไปสู่โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 5 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่สอดคล้องกับเจตนาของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่ต้องการดำเนินคดีทางอาญากับนักเรียนนักศึกษา ทำให้แนวทางการใช้กฎหมายฉบับนี้ ไม่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและสถานศึกษา
         
“กระทรวงพาณิชย์เห็นควรผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและนักเรียนโดยตรง ได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการแก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบดังกล่าว จะช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถกำหนดมาตรการตรวจค้นและยึดบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนกำหนดบทลงโทษนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาได้อย่างเพียงพอเหมาะสม โดยไม่ต้องใช้กฎหมายที่มุ่งเน้นด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีบทกำหนดโทษทางอาญาที่รุนแรง ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นางอารดากล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง