​สนค.ส่องเทรด์วอร์สหรัฐฯ-จีน ต่อการค้าสินค้าเกษตรไทย พบหลายตัวเห็นแววรุ่ง

img

สนค.วิเคราะห์ผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย หลังสหรัฐฯ-จีน จัดหนักสงครามการค้า เผยหลายสินค้ามีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งอาหารสัตว์ ข้าว ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เนื้อปลาลิ้นหมาแบบฟิลเล หน่อไม้ปรุงแต่ง เหตุไทยครองส่วนแบ่งตลาดลำดับต้น มีลุ้นได้ส่วนแบ่งจากจีนเพิ่ม ส่วนพาสต้า ปลาหมึกแช่แข็ง ซอสถั่วเหลือง ปลาอื่น ๆ ปรุงแต่ง พืชตระกูลถั่ว เป็นสินค้าที่จีนครองส่วนแบ่ง แต่ไทยมีลุ้นเพิ่มส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้น แต่กระเทียม ผัก พริกแห้ง หรือพริกไทยเทศแห้ง ชาเขียว หอมหัวใหญ่ ต้องระวังการแข่งขัน   

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้มีการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในยุคทรัมป์ 2.0 จากการที่สหรัฐฯ มีนโยบายเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้า รวมถึงยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (De Minimis) ต่อสินค้าจีน และจีนตอบโต้กลับโดยปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเช่นเดียวกันว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร สินค้าอะไรมีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และสินค้าอะไร ที่ต้องเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า

โดย สนค. ได้ทำวิเคราะห์ผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก โดยพบว่า 1.สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อยู่อันดับต้น ๆ อาจได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าเพื่อทดแทนสินค้าจีน เช่น อาหารสุนัขและแมว ข้าว ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เนื้อปลาลิ้นหมาแบบฟิลเล และหน่อไม้ปรุงแต่ง  
         
2.สินค้าที่ไทยมีโอกาส เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อันดับต้น ๆ ขณะที่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก ซึ่งหากได้รับการผลักดันและเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มพาสต้าอื่น ๆ เช่น เส้นหมี่ วุ้นเส้น ปลาหมึกแช่แข็ง ซอสถั่วเหลือง ปลาอื่น ๆ ปรุงแต่ง เช่น ปลาฮอร์สแมคเคอเรล พืชผักตระกูลถั่วอื่น ๆ แช่แข็ง  
         


3.สินค้าที่ต้องเฝ้าระวังการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนมีศักยภาพและไทยก็ปลูกได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและบางครั้งจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น และอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในราคาถูกลง เช่น กระเทียมสดหรือแช่เย็น พืชผักอื่น ๆ ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย พริกแห้ง หรือพริกไทยเทศแห้งทั้งเม็ด ชาเขียวอื่น ๆ ไม่หมัก และหอมหัวใหญ่แห้งหรือผง  
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเกษตรไทยในสหรัฐฯ ยังมีความท้าทาย เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 36% แม้การเก็บภาษีดังกล่าวจะถูกระงับไว้เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ 9 เม.ย.2568 โดยไทยต้องเฝ้าระวังการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดอื่นด้วย ในกรณีเมื่อจีนถูกตั้งกำแพงภาษีและไม่สามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้เช่นเดิม จึงอาจระบายสินค้าไปตลาดอื่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดนั้น ๆ สูงขึ้น
         
นอกจากนี้ อัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงอัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ซึ่ง สนค. จะติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไป
         
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการวางแผนดำเนินการ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้า กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านคุณภาพและมาตรฐาน เฝ้าระวังผลกระทบต่อสินค้าเกษตรภายในประเทศ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตภายในประเทศ บังคับใช้กฎระเบียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เร่งแก้ไขประเด็นที่คาดว่าสหรัฐฯ อาจนำมาใช้อ้างเป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีและกระจายตลาดส่งออก ตลอดจนรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันในทางการค้า เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง