“พิชัย”แจ้งข่าวดี ปิดดีล FTA ไทย-ภูฏานแล้ว เจรจาสุดเร็วแค่ 9 เดือน ลงนาม เม.ย.นี้

img

“พิชัย”แจ้งข่าวดี สามารถปิดดีล FTA ไทย-ภูฏานได้แล้ว หลังใช้เวลาเจรจากันแค่ 9 เดือน กำลังเป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย เตรียมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน มี.ค. ก่อนนำผลเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ และลงนามต้น  เม.ย.นี้ มั่นใจช่วยหนุนการค้า ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเมื่อวันที่ 17-19 ก.พ.2568 ที่กรุงเทพฯ สามารถสรุปผลการเจรจากันได้แล้ว ในเวลาเพียง 9 เดือน ซึ่งจะทำให้ FTA ไทย-ภูฏาน เป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย และฉบับที่ 2 ของตน นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าของไทย โดยทั้งสองฝ่ายเตรียมลงนาม FTA ไทย-ภูฏาน ในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.2568 ที่จะถึงนี้

สำหรับความตกลง FTA ไทย-ภูฏาน ครอบคลุมประเด็นการค้าสินค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งไทยและภูฏาน ตกลงให้มีการเปิดตลาดระหว่างกันในระดับสูง ครอบคลุมมูลค่าระหว่างกันเกือบทั้งหมด โดยสินค้าที่ภูฏานสนใจจะนำเข้าจากไทย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ FTA ไทย-ภูฏาน ยังเป็นกลไกช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและมีศักยภาพร่วมกัน อาทิ การท่องเที่ยว เกษตร การศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และพลังงานหมุนเวียน
         
“FTA ไทย-ภูฏาน เป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จของรัฐบาลไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทยให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าไทย และเป็น FTA ฉบับที่ 2 ที่ไทยปิดดีลได้สำเร็จ ภายหลังที่ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อจาก FTA-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และ ลิกเตนสไตน์ และไทยยังอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป (อียู) โดย FTA ไทย-อียู มุ่งมั่นที่จะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ ตามแนวทางการเจรจาที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้”นายพิชัยกล่าว
         


นายพิชัยกล่าวว่า ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในทุกระดับ โดยภูฏานสามารถเป็นตลาดส่งออกสินค้าให้กับไทยได้ในระยะยาวได้ แม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่เศรษฐกิจของภูฏานยังเติบโตได้อีกมาก ประกอบกับชาวภูฏานชื่นชอบและเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย และต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยมองว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะช่วยให้ชาวภูฏานเข้าถึงสินค้าของไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น
         
โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะจัดประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเดือน มี.ค.2568 ก่อนจะนำเสนอผลการเจรจาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมพร้อมการลงนาม FTA ดังกล่าวในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทคในเดือน เม.ย.2568 ต่อไป
         
ในปี 2567 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 460.47 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 457 ล้านบาท และนำเข้าจากภูฏาน 3.47 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและแปรรูป และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง