“พาณิชย์”ลุยดูดผลผลิตข้าวนาปรัง ดึงผู้ประกอบการซื้อทำข้าวถุง เร่งเปิดตลาดนัด

img

กรมการค้าภายในจับมือผู้ประกอบการข้าวถุง ดูดซับผลผลิตข้าวนาปรัง นำผลิตข้าวสารบรรจุถุง ก่อนร่วมมือห้างค้าส่งค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น แพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยขาย จัดโปรโมชัน กระตุ้นการบริโภค พร้อมเดินหน้าเปิดตลาดนัดข้าวเปลือก ใน 8 จังหวัดเป้าหมาย รับซื้อข้าวจากเกษตรกร เตรียมนำข้อเสนอชาวนา ชงคณะอนุตลาด นบข. พิจารณา 20 ก.พ.นี้ ก่อนหามาตรการที่ดีที่สุด เสนอ นบข.ไฟเขียว
         
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมติดตามสถานการณ์ราคาข้าว และเร่งดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตร โดยกรมได้หารือผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุง ห้างค้าส่งค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่นและแพลตฟอร์ม จำนวน 15 ราย ในการร่วมกันดูดซับผลผลิตข้าว เพื่อนำมาบรรจุถุง และประชาสัมพันธ์รณรงค์กระตุ้นการบริโภคข้าวสารบรรจุถุง ชนิดข้าวขาว 5% โดยทำพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
         
ทั้งนี้ แนวทางความร่วมมือ สมาคมข้าวถุงจะจัดส่งข้าวสารถุง ให้ห้างค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่น เพื่อจำหน่ายในราคาประหยัด ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ จะจัดสถานที่วางจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้เห็นเด่นชัด พร้อมจัดโปรโมชันในทุกสาขา เพื่อกระตุ้นการบริโภค
         
สำหรับผู้แทนที่เข้าร่วมหารือ ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซีพี แอ็กซ์ตร้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เดอะมอลล์ แม็กแวลู ท็อปส์ เซเว่นอิเลฟเว่น ซีเจ สหลอว์สัน โก โฮลเซลล์ ห้างท้องถิ่น ลาซาด้า ชอปปี้ ไปรษณีย์ไทย  
         


นอกจากนี้ กรมได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าข้าวรายสำคัญ ในการวางแผนดูดซับข้าวนาปรัง เพื่อช่วยพยุงราคาข้าวที่กำลังออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้ และกรมยังได้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร โดยได้ดำเนินการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.2568 เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น โดยจัดตลาดนัดข้าวเปลือก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด คือ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย ระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา  
         
ขณะเดียวกัน สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ยื่นหนังสือให้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยขอสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการฟางข้าว 500 บาท/ไร่ และช่วยเหลือเกษตรกรนาปรัง 500 บาท/ไร่ และควบคุมปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยา และน้ำมันให้มีราคาถูกลง
         
“กรมจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้ ให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีนายพิชัย เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อพิจารณา รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ต่อไป”นายวิทยากรกล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง