![img](/uploads/2025/02/67ac20e1d74c1.jpg)
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ธ.ค.67 มูลค่า 997.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 79.14% รวมทองคำ มูลค่า 1,442.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 48.38% เฉพาะส่งออกทอง โต 7.17% แม้ราคาตลาดโลกเริ่มลด ส่วนยอดรวมทั้งปี 9,609.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 10.99% รวมทองคำ 18,367.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 25.49% คาดปี 68 ยังขยายตัว แต่ต้องจับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายทรัมป์ 2.0 ก่อสงครามการค้า ฉุดยอดส่งออก
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน ธ.ค.2567 มีมูลค่า 997.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 79.14% กลับมาเป็นบวกได้ต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,442.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 48.38% ส่วนยอดรวมทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 9,609.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.99% หากรวมทองคำ มูลค่า 18,367.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.49%
สำหรับการส่งออกทองคำเดือน ธ.ค.2568 มีมูลค่า 445.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.17% แม้ราคาทองคำตลาดโลกจะลดลง แต่ก็ยังส่งออกได้เพิ่มขึ้น ส่วนยอดรวมปี 2567 ส่งออกทองคำมีมูลค่า 8,758.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 46.48% และหากแยกการส่งออกทองคำเป็นรายเดือน ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 75.02% เม.ย. มูลค่า 288.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 64.57% พ.ค. มูลค่า 582.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 135.39% มิ.ย. 544.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 184.12% ก.ค. 1,180.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 434.13% ส.ค. 455.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 99.01% ก.ย. 741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 14.99% และ ต.ค. 2,231.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 169.31% พ.ย.2567 มีมูลค่า 686.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 174.67%
ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยฮ่องกง เพิ่ม 5.69% สหรัฐฯ เพิ่ม 14.51% อินเดีย เพิ่ม 118.04% เยอรมนี เพิ่ม 9.63% เบลเยี่ยม เพิ่ม 16.25% อิตาลี เพิ่ม 2.34% ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.40% ส่วนสหราชอาณาจักร ลด 5.37% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 0.30% สวิตเซอร์แลนด์ ลด 7.77%
ทางด้านการส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 3.91% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 18.22% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 24% พลอยก้อน เพิ่ม 42.66% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 5.64% ซึ่งในกลุ่มพลอย ยังคงเป็นสินค้าที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 4.41% แพลทินัม เพิ่ม 4,4497.57% จากการส่งออกไปอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 1 เพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยส่งออกในปีที่แล้ว รวมทั้งญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ตลาดอันดับ 2-3 ก็ส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 5.35% เพชรก้อน ลด 8.79% และเพชรเจียระไน ลด 7.53% จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล และสหรัฐฯ ลดลง
นายสุเมธกล่าวว่า ทิศทางการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2568 การส่งออกน่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเก็บภาษีนำเข้าประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ในลำดับต้น ๆ และมาตรการตอบโต้ด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าในระยะอันใกล้ ซึ่งหลายปัจจัยนี้ จะมีผลต่อเนื่องและอาจเป็นกำแพงกีดกันการค้าโลกในปี 2568 และส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการปรับตัว ผู้ประกอบการจะต้องใช้ประโยชน์จากการที่อุตสาหกรรมค้าปลีกได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแนวทางจากการขับเคลื่อนด้วยเทรนด์สำหรับคนจำนวนมากไปเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยความมีเอกลักษณ์สำหรับแต่ละบุคคล หรือเปลี่ยนจากแบบกลุ่มขนาดใหญ่เป็นแบบกลุ่มย่อย ทำให้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การตลาด และการทำธุรกิจในด้านต่าง ๆ โดยต้องให้ความสำคัญกับการดึงดูดผู้บริโภคเชิงคุณค่า การปลดล็อกการเชื่อมโยงช่องทางการตลาดแบบ Omnichannel และการสร้างประสิทธิภาพความเชี่ยวชาญสำหรับตลาดแบบเฉพาะบุคคลมากให้ขึ้น
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง