“พาณิชย์”หนุนธุรกิจออกตราสารหนี้สีเขียว ระดมทุนเพิ่มขีดแข่งขัน ใช้ป้องสิ่งแวดล้อม

img

สนค.เผยทั่วโลกมีการกำหนดมาตรการ กฎเกณฑ์ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว และหาแหล่งเงินทุนมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่สีเขียว แนะใช้ประโยชน์จากการออกตราสารหนี้สีเขียว เพื่อระดมทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซ
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกได้มีมาตรการ กฎเกณฑ์ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหาแหล่งเงินทุน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ตราสารหนี้สีเขียว เป็นตราสารหนี้ที่มีโอกาสเติบโตสูง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย
         
สำหรับตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุน เพื่อนำไปใช้ดำเนินโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานหมุนเวียน การคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะ และการสร้างอาคารสีเขียว หากตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า “พันธบัตรสีเขียว” และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่า “หุ้นกู้สีเขียว”
         
ปัจจุบัน ตราสารหนี้สีเขียว มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการออกตราสารหนี้ครั้งแรกในปี 2550 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ตราสารหนี้สีเขียวทั่วโลกมีมูลค่าสะสมตั้งแต่ปี 2550 ประมาณ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 62% ของตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 มีมูลค่า 5.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังเร่งระดมทุนเพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่มีตราสารหนี้สีเขียวมากที่สุดคือ จีน มีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา คือ สหรัฐฯ มูลค่า 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตราสารหนี้สีเขียวในสหรัฐฯ อาจมีมูลค่าลดลง เนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ได้สนับสนุนการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำให้การลงทุนและการระดมทุนสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในทวีปอื่น โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรปเพิ่มมากขึ้น
         


โดยตัวอย่างตราสารหนี้สีเขียวของต่างประเทศ อาทิ อินเดีย ออกพันธบัตรสีเขียวสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เบลเยียม ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียว ระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สหรัฐฯ บริษัท Apple ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อระดมทุนสำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการพลังงานลม แคนาดา ออกพันธบัตรสีเขียวเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเครื่องมือดักจับคาร์บอน และซาอุดีอาระเบีย บริษัท Saudi Electricity Company ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารสีเขียวและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน
         
ส่วนไทย มีการออกตราสารหนี้สีเขียวครั้งแรกในปี 2558 โดยตราสารหนี้สีเขียวของไทยในปี 2566 มีมูลค่าสะสมประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตราสารหนี้สีเขียวในไทยส่วนใหญ่ออกโดยภาคเอกชนและธนาคาร อาทิ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมในออสเตรเลีย และโครงการรถไฟฟ้าในไทย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้สีเขียวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ออกพันธบัตรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อ SMEs (SME Green Bond) สำหรับนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะดำเนินโครงการพลังงานสะอาด และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB THAI) ออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ให้กับโครงการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
         
“ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแสวงหาเงินทุน โดยใช้ตราสารหนี้สีเขียวได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ด้วย”นายพูนพงษ์กล่าว
         
ในรายงาน Global Warming of 1.5°C ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) คาดการณ์ว่า ในปี 2583 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส จากปี 2564 และในช่วงระหว่างปี 2559–2578 ทั่วโลกจะมีค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ในรายงาน Labelled Bonds for the Net-Zero Transition in South-East Asia : The Way Forward ที่จัดทำโดย World Economic Forum ร่วมกับ ETH Zurich ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางการเงิน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับดำเนินการต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง