“พาณิชย์”แนะไทยปรับแผนขายสินค้าเกษตรญี่ปุ่น รับมือกฎหมายเพิ่มความมั่นคงอาหาร

img

สนค.เผยรัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบการปฏิรูป กฎหมายพื้นฐานด้านอาหาร การเกษตร และพื้นที่ชนบท ฉบับปรับปรุงใหม่ เพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร เตรียมจูงใจเพิ่มการผลิตในประเทศ ลดนำเข้า กระจายแหล่งซื้อ แนะเกษตรกร ผู้ประกอบการไทยปรับตัว หันผลิตสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน เจาะตลาดสินค้าที่ญี่ปุ่นผลิตได้ไม่เพียงพอ เน้นทุเรียน มะม่วง มังคุด พืชสมุนไพร อาหารฟังก์ชั่น โปรตีนจากแมลง และทำบรรจุภัณฑ์ให้โดน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ใช้ประโยชน์ FTA ส่งออก มั่นใจสินค้าเกษตรไทยยังรุ่งในตลาดญี่ปุ่นได้
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือน มิ.ย.2567 รัฐสภาญี่ปุ่นเห็นชอบการปฏิรูป “กฎหมายพื้นฐานด้านอาหาร การเกษตร และพื้นที่ชนบท” (Basic Law on Food, Agriculture, and Rural Areas) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ปี 2542 โดยการปฏิรูปในครั้งนี้ เน้นประเด็นความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง ขาดเสถียรภาพ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความไม่แน่นอนและกระทบตลาดธัญพืชโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และยังมีความท้าทายต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดโรคระบาด ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องปฏิรูปกฎหมาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง โดยมุ่งสนับสนุนการส่งออก ลดการพึ่งพาการนำเข้า และปรับเปลี่ยนการผลิต
         
สำหรับมาตรการต่าง ๆ ที่ญี่ปุ่นจะนำมาใช้ ครอบคลุมถึงการสร้างแรงจูงใจสำหรับการผลิตภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ กระจายแหล่งซัปพลายเออร์ในการจัดหาสินค้า เพิ่มปริมาณสต็อกฉุกเฉิน และการสร้างแบรนด์แจแปน “Brand Japan” ซึ่งการสร้างแบรนด์จะเชื่อมโยงกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจภาคการเกษตร มุ่งเน้นให้ญี่ปุ่นปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยจะเพิ่มความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงผู้บริโภค
         


ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายฉบับปรับปรุง ปี 2563 ญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรที่จะผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2561–2573 เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลือง บัควีท พืชอาหารสัตว์ ผัก ผลไม้ เนื้อวัว ไก่ ไข่ และสุกร (ยกเว้น ข้าวที่จะลดการผลิตลง แต่ไม่รวมข้าวที่ใช้ทำแป้งและใช้เป็นอาหารสัตว์) ซึ่งตามแผนจะมีการทบทวนทุก 5 ปี ดังนั้น ในปี 2568 คาดว่าญี่ปุ่นจะมีการเผยแพร่แผนฉบับใหม่
         
นายพูนพงษ์กล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นมีนโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร อาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยลดลง เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยต้องปรับกลยุทธ์การผลิต มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ของญี่ปุ่น โดยมีข้อเสนอสำหรับแนวทางการปรับตัว คือ ต้องพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำเทคโนโลยีการเกษตรยั่งยืนมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยร่วมมือกับผู้นำเข้าญี่ปุ่นควบคู่กับการทำการค้า การสร้างโอกาสสำหรับสินค้าเฉพาะ ที่ญี่ปุ่นผลิตได้ไม่เพียงพอ เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด พืชสมุนไพร และอาหารแปรรูปเฉพาะทาง เช่น อาหารฟังก์ชั่น โปรตีนจากแมลง เป็นต้น การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยเฉพาะข้าว ที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายกำกับ ได้แก่ กฎหมายการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าว และยังมีกฎหมายการติดฉลากสินค้าอาหาร  
         
“การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปญี่ปุ่นยังมีศักยภาพมาก ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่เอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น อาทิ การมีโควตาส่งออกกล้วยหอมไทยไปญี่ปุ่นกว่า 8,000 ตัน และยังมีผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทย เช่น มะม่วง ทุเรียน และมะพร้าว อีกทั้งการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยในญี่ปุ่น ได้แก่ สับปะรดห้วยมุ่น กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการไทยเจาะกลุ่มตลาดญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้น”นายพูนพงษ์กล่าว

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง