​“พาณิชย์”ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย ขยายตลาดเครื่องประดับแฟชัน-ราคาสูง ในออสเตรเลีย

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในออสเตรเลีย มีแนวโน้มเติบโต ทั้งเครื่องประดับแฟชัน และเครื่องประดับมูลค่าสูง แนะพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ ทำการตลาดในหลายช่องทาง เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ทั้งมาตรการ การรับประกันสินค้า และใช้ช่องทางการร่วมงานแสดงสินค้า ทั้งในไทยและออสเตรเลีย เปิดตัวสินค้าให้เป็นที่รู้จัก
         
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาววรรณศรี โชติกะพุกกณะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ถึงรายงานตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดออสเตรเลีย พฤติกรรมการซื้อสินค้า และโอกาสในการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยเข้าสู่ตลาดออสเตรเลีย
         
โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่าปัจจุบัน พฤติกรรมการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคออสเตรเลียแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 18-34 ปี และกลุ่ม Millennials เป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อที่จำกัดเนื่องจากรายได้น้อย จึงนิยมซื้อสินค้าเครื่องประดับแฟชั่นเพื่อตามกระแสแฟชั่น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม Influencers และนิยมซื้อเครื่องประดับผ่านช่องทางออนไลน์ 2.กลุ่ม Older Millennials และกลุ่มฃ Gen X (อายุระหว่าง 35-54 ปี) โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค Gen X ที่ซื้อเครื่องประดับแฟชั่นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 38.8 แม้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีรายได้สูงและมีกำลังซื้อและนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับแบรนด์เนมราคาสูง เพื่อเน้นย้ำความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนและความโดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่ยังเป็นกลุ่มที่นิยมซื้อเครื่องประดับแฟชั่นเพื่อเป็นของขวัญเป็นหลักด้วย และ 3.กลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปหรือกลุ่ม Baby boomer เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้มั่นคง และนิยมซื้อเครื่องประดับประเภทมูลค่าสูง (Fine Jewellery) เพื่อการลงทุนและเป็นมรดกสืบทอด

สำหรับแนวโน้มตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ พบว่า ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อาทิ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายที่รัดกุมของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายลดลง คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2568 แนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไป โดยสินค้าเครื่องประดับแฟชั่น (Fashion Jewellery) ประเภท Sterling silver 925 จะเป็นที่นิยมในด้านความเป็นสินค้าคุณภาพดี ราคาไม่แพง ส่วนตลาดเครื่องประดับ Fine Jewellery เช่น แหวน ต่างหู และสร้อยคอ จะขยายตัวได้ดีกว่าเครื่องประดับแฟชั่น โดยมีผู้บริโภคที่มีฐานะร่ำรวยเป็นแรงขับเคลื่อน และยังมีการเติบโตของตลาดเครื่องประดับทางเลือก อาทิ เพชรจากห้องแล็บ และ Demi-Fine Jewellery ที่ทำจากทองและเงิน



น.ส.สุนันทากล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของตลาดอัญมณีและเครื่องประดับดังกล่าว เป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเครื่องประดับเงิน ของทำด้วยรัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ (ธรรมชาติ สังเคราะห์หรือทำขึ้นใหม่) เพชร แพททินัมยังไม่ได้ขึ้นรูป ของทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ (ทอง/เงินและโลหะมีค่า) และรัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ (สังเคราะห์หรือทำขึ้นใหม่) โดยเฉพาะแพททินัมกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องประดับประเภท Sterling silver ซึ่งเป็นเครื่องประดับจากไทยที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในตลาดออสเตรเลีย รวมถึงสามารถส่งออกวัตถุดิบ เช่น ทองคำ เพชร พลอย หินมีค่าและไข่มุก โดยผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิ์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียได้

นอกจากนี้ ตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับออสเตรเลีย ทั้ง Fine Jewellery และ Fashion Jewellery เป็นตลาดสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า โดยหากจะคงความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต นักออกแบบ หรือผู้ขายจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เป็นตัวแปรสำคัญ รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ และการทำตลาด Multichannel (หลายช่องทาง) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงและปฏิบัติตาม คือ Australian Consumer law ในด้านต่าง ๆ เช่น การรับประกันสินค้า มาตรฐานสินค้า คุณภาพและเกรด ตลอดจนการทำการตลาดที่อาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิด

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Bangkok Gems & Jewellery Fair (22-26 ก.พ.2568) ในประเทศไทย และงาน International Jewellery Fair 2025 (23-25 ส.ค.2568) ในออสเตรเลียเพื่อสร้างโอกาสในการพบบริษัทผู้ผลิตและผู้นำเข้าเครื่องประดับและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและสร้างโอกาสด้านการเป็นฐานการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้แก่ผู้ค้าปลีกออสเตรเลีย และโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจด้านต่าง ๆ ระหว่างไทยและออสเตรเลียให้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง