กรมการค้าต่างประเทศเผยประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกกำหนดให้หินเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้หินที่อยู่ในข่ายควบคุม 4 ชนิด ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกต่อไป ระบุจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และยังเป็นไปตามพันธกรณี WTO และ ATIGA
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้หินเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 และ ครม. ได้อนุมัติตามที่เสนอ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในการดำเนินธุรกิจตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคทางการค้า โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพันธกรณีความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) โดยมีผลให้สินค้าหินที่อยู่ในข่ายควบคุม 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.หินอ่อน ทราเวอร์ทิน อีคอสซิน และหินอื่น ๆ พิกัดศุลกากร 25.15 ยกเว้นหินอ่อนก้อนเหลี่ยมพิกัดศุลกากร 2515.12.10 ที่มีรูปทรงมิติเป็นแท่งตันขนาดด้านกว้าง ยาว และสูง ตั้งแต่ด้านละ 50 เซนติเมตรขึ้นไป 2.หินอ่อน ทราเวอร์ทิน และอะลาบาสเตอร์ ตามพิกัดศุลกากร 6802.21.00 3.หินแกรนิต ตามพิกัดศุลกากร 6802.23.00 และ 4.หินอื่น ๆ ตามพิกัดศุลกากร 6802.29.10 และ 6802.29.90 ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์อีกต่อไป
ทั้งนี้ การยกเลิกยังเป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณี กรมศุลกากร กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมหินอ่อนและแกรนิตไทย และสภาการเหมืองแร่
“การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว จะเป็นการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวกทางการค้า ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นในอนาคตด้วยโดยผู้ประกอบการ ประชาชน และผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2547 5124 หรือสายด่วน DFT 1385”นางอารดากล่าว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง