“สุชาติ” หารือประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนของจีน ขอช่วยสนับสนุนการเปิดตลาดโคมีชีวิต ประชาสัมพันธ์สินค้า GI และผลไม้ชนิดใหม่ที่ไทยอยู่ระหว่างขออนุญาตส่งออกไปจีน ชวนร่วมและช่วยเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้าชมงานแสดงสินค้าในไทย ยันยินดีต้อนรับนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC ด้าน CCPIT เชิญไทยเข้าร่วมเป็นประเทศแขกพิเศษงาน EXPO ที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายเหริน หงปิน ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International trade – CCPIT) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานคล้าย ๆ กับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมร่วมกัน ว่า ได้ใช้โอกาสนี้ ขอให้ CCPIT สนับสนุนการผลักดันประเด็นข้อเสนอของฝ่ายไทยกับหน่วยงานภาครัฐของจีน เช่น การเปิดตลาดโคมีชีวิต ตลอดจนช่วยนำร่องประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่อยู่ระหว่างการยื่นขอจด GI ในจีน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ทุเรียนปราจีน มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และผลไม้ชนิดใหม่ อาทิ สละและอินทผาลัม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้มีการนำเข้า ไปยังกลุ่มผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า หรือสมาคมการค้าที่เป็นพันธมิตรกับ CCPIT
ทั้งนี้ ประธาน CCPIT แจ้งว่า ปัจจุบัน ชาวจีนนิยมบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี อันเป็นผลจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือ ACFTA ที่มีการเปิดตลาด ยกเลิกภาษีนำเข้าผลไม้ และลดขั้นตอนการนำเข้า ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างกัน
ขณะเดียวกัน ไทยได้เชิญชวน CCPIT ให้เข้าร่วมหรือเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ให้มาชมงานแสดงสินค้าที่จัดในไทย ตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ย.2568 จำนวน 6 งาน ได้แก่ 1.Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 71 (22–26 ก.พ.2568) และครั้งที่ 72 (9–13 ก.ย.2568) 2.THAIFEX–HOREC ASIA 2025 (5–7 มี.ค.2568) 3.STYLE Bangkok 2025 (2–6 เม.ย.2568) 4.TAPA 2025 (3–5 เม.ย.2568) 5) THAIFEX-ANUGA ASIA 2025 (21–31 พ.ค.2568) 6) TILOG–Logistix 2025 (20–22 ส.ค.2568) รวมทั้งเสนอ CCPIT พิจารณาแลกเปลี่ยนการสนับสนุนในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่าย เช่น การสนับสนุนพื้นที่ฟรีสำหรับจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ (Showcase) รวมถึงการจัดกิจกรรมประเภทอื่น ๆ ที่ CCPIT พิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายความร่วมมือทางการค้า เนื่องในปี 2568 เป็นวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน
ส่วนความร่วมมือด้านการลงทุน ได้แจ้งกับ CCPIT ว่ารัฐบาลไทยยินดีต้อนรับนักลงทุนจีน ที่ต้องการเข้ามาดำเนินธุรกิจในเขต EEC โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พลังงานสะอาด รวมถึงการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานฝีมือ รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และมาตรการอำนวยความสะดวก ซึ่งเอื้อต่อการใช้ชีวิตระยะยาวในประเทศไทยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลไทยมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการ EV 3.5 ที่ให้การสนับสนุนทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตผ่านการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป การลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุน ดังนั้น นักลงทุนและหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของจีน จึงมั่นใจได้ว่า ไทยจะเป็นฐานลงทุน ฐานการกระจายสินค้า และตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่มีศักยภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ ได้หารือถึงการเจรจายกระดับความตกลง ACFTA ที่มีการเพิ่มขอบเขตความร่วมมือสาขาใหม่ ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย โดยคาดว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามความตกลงฯ ได้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นภายในปีนี้
ทางด้าน CCPIT ได้เชิญไทยเข้าร่วมเป็นประเทศแขกพิเศษหนึ่งในสองประเทศ ไปร่วมงาน The 3rd China International Supply Chain Expo ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ในเดือนก.ค.2568
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่สูงที่สุดกับไทยติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 การค้ารวมมีมูลค่า 104,999.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (3,650,890.18 ล้านบาท) ลดลง 0.19% แบ่งเป็นการส่งออก 34,173.34 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,177,192.18 ล้านบาท) ลดลง 0.75% และการนำเข้า 70,826.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,473,698.00 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.08% ซึ่งเป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ไทยสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ต่อไปได้ โดยไทยขาดดุลการค้า 36,653.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,296,505.82 ล้านบาท)
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง