​“พิชัย” สั่งเกาะติด ทรัมป์ 2.0 มีมาตรการอะไรเพิ่ม พร้อมเตรียมทีมบินพบสหรัฐฯ ก.พ.นี้

img

“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เผย “พิชัย” สั่งการหน่วยงานในสังกัดติดตาม ประเมินผลกระทบทรัมป์ 2.0 อย่างใกล้ชิด จะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมจับตา 29 กลุ่มสินค้าไทย มีความเสี่ยงถูกขึ้นภาษี เหตุสหรัฐฯ ขาดดุลกับไทยมาก เตรียมจัดคณะผู้บริหารบินพบสหรัฐฯ ก.พ.นี้ หารือร่วมมือการค้า การลงทุน และขอยกเว้นการปรับขึ้นภาษี
         
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ติดตามและประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2568 ว่าจะมีผลต่อการค้าโลกและไทยมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร โดยให้ติดตามดูว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก หลังจากที่เคยประกาศนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีน แคนาดา เม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก และการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ตลอดจนการดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อสร้างการจ้างงานภายในประเทศ
         
ทั้งนี้ จากการติดตามในเบื้องต้น พบว่า นอกจากการขึ้นภาษีนำเข้าแล้ว สหรัฐฯ ยังได้จับตาประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิต เพราะต้องการเลี่ยงสงครามการค้า และมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยประเทศปลายทางที่จีนเข้าไปลงทุนเพิ่มเติมมาก 10 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย เวียดนาม โมร็อกโก คาซัคสถาน อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และเม็กซิโก โดยคาดว่า มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เรียบร้อยแล้ว  
         
สำหรับกลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษี มีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61-66) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ , เครื่องโทรศัพท์มือถือ , ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์) , ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่ , หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ ,  เครื่องปรับอากาศ , เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน , เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ , วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ , เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว
         


นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีฃความเสี่ยงโดนเก็บภาษี เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็นตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้
         
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย นายพิชัยมีแผนที่จะนำคณะผู้บริหารเยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ชุดใหม่ในเดือน ก.พ.2568 เพื่อหารือถึงความร่วมมือทางการค้า การลงทุน ระหว่างไทย-สหรัฐฯ และการเจรจาขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าจากไทย
         
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
         
ในปี 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.3% และยังมองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีเสถียรภาพและได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเติบโตอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเติบโตที่ 1.7% แต่ได้เตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง อาจเผชิญกับความเสี่ยงนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นการปกป้องที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากร ที่อาจนำไปสู่การลดลงของการลงทุน ลดทอนความมีประสิทธิภาพของตลาด เบี่ยงเบนทิศทางการค้า และอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการที่นำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า จะทำให้เกิดความเสี่ยงของการค้าโลกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการปริมาณการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือเพิ่ม 3.1% สำหรับเศรษฐกิจและการส่งออกไทยและอาเซียน คาดว่าจะส่งผลให้ขยายตัวลดลงเช่นกัน

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง