"พาณิชย์"ชวนผู้ประกอบการร้านอาหาร ใช้หอมแดงศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI นำไปทำอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่า และมีสรรพคุณทางยา พร้อมแนะแนวทางเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกร ต้องส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูก และการเก็บรักษา ส่วนตลาดส่งออกหอมแดง มาเลเซียอันดับหนึ่ง ตามด้วยเวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหอมแดงศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยผลักดันให้นำไปใช้รังสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสนับสนุนการสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพราะหอมแดงไทยเป็นสินค้าคุณภาพดี เป็นที่รู้จัก มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยมีสรรพคุณทางยาที่ใช้ในตำรับยาสมุนไพร อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญในฐานะพืชเกษตรเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หอมแดงยังเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการผลผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก การพัฒนาการค้าสินค้าหอมแดง จึงควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและการเก็บรักษาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมถึงสนับสนุนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาด อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและคว้าโอกาสการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
โดยผลผลิตหอมแดงในปี 2567/68 คาดว่าจะมีผลผลิต 152,221 ตัน เพิ่มขึ้น 2.69% ซึ่งนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาด ช่วยเชื่อมโยงนำผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เข้าไปรับซื้อและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาที่เป็นธรรมและคุ้มต้นทุน รวมทั้งนำเปิดจุดจำหน่ายผ่านงานธงฟ้า โมบายพาณิชย์ และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบริโภคหอมแดง
ส่วนสถานการณ์การค้าในปี 2566 ไทยส่งออกหอมแดง ปริมาณ 15,324 ตัน มูลค่า 12.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.38% โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สัดส่วน 48.31% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เวียดนาม 18.28% สิงคโปร์ 12.53% เกาหลีใต้ 7.51% และอื่น ๆ 13.38% และในช่วง 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกหอมแดงปริมาณ 14,728 ตัน มูลค่า 12.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.59%
สำหรับมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย ได้เผยแพร่รายงาน Supply and Utilization Accounts (SUA) of Selected Agricultural Commodities (2019-2023) ระบุว่า หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่มาเลเซียพึ่งพาการนำเข้าเพียงอย่างเดียว โดยในปี 2566 ความต้องการใช้หอมแดงของมาเลเซียอยู่ที่ 39,824 ตัน และชาวมาเลเซียบริโภคหอมแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของมาเลเซีย จึงได้พัฒนาการปลูกหอมหัวใหญ่และหอมแดง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดย 1.ระยะก่อนการค้า (ปี 2567–2568) จะสำรวจศักยภาพการปลูก จัดหาเมล็ดพันธุ์ พร้อมทั้งกำหนดและพัฒนาพื้นที่ปลูกจำนวน 100 เฮกตาร์ โดยในระยะนี้ ตั้งเป้าจะผลิตหอมหัวใหญ่และหอมแดง 1,000 ตัน และ 2.ระยะการค้า (ปี 2569–2573) จะพัฒนาพื้นที่ปลูก 1,347 เฮกตาร์ โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิต 14,470 ตัน ตอบสนองต่อความต้องการในประเทศได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573
ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นคู่แข่งสินค้าหอมแดงของไทย โดยอินโดนีเซียถือเป็นสินค้าสำคัญในภาคเกษตร หน่วยงานอาหารแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Bapanas) ตั้งเป้าหมายให้อินโดนีเซียเป็นผู้นำการผลิตหอมแดง ที่จะมีผลผลิตปีละ 1.35 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 1.16 ล้านตัน แสดงถึงการมีผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและสำหรับการส่งออก โดยในปี 2566 การส่งออกหอมแดงของอินโดนีเซียไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปในทิศทางที่ดี และการส่งออกไปมาเลเซียก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกได้มากถึง 612.8 ตัน จากเพียง 59.6 ตัน ในปี 2564
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง