กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ พบมีแนวโน้มเติบโตสูง กลุ่ม e-Book มาแรงสุด หลังคนเลิกอ่านหนังสือเป็นเล่ม มาอ่านผ่านออนไลน์แทน กลุ่มคาแรคเตอร์ก็น่าจับตา มีธุรกิจไทยหลายรายเริ่มมีความโดดเด่น แถมต่อยอดเป็น Art Toy ที่กำลังบูม แนะเร่งพัฒนาฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ แต่อย่าลืม Thai Style สร้างจุดแข็ง จุดขาย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ พบว่า กำลังเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ เพราะได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งยุคดิจิทัลที่รอบตัวเต็มไปด้วยเครื่องมือสารอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone , Smart TV , แท็บเล็ต หรือสื่อโฆษณาดิจิทัล และการผลิตข้อมูลที่จะใส่ไปในเครื่องมือต่าง ๆ ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทางจากนักสร้างคอนเทนต์ (Digital Content Creator) จึงทำให้ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ มีความสำคัญ และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึก พบว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยประเภท e-Book คิดเป็น 48% ของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งหมด เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้และกำไรได้ดีที่สุด โดยปี 2566 กลุ่ม e-Book มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและบริโภคในประเทศ สร้างรายได้ 3,162 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เปลี่ยนผ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่โลกออนไลน์ และการปิดตัวของร้านหนังสือ ส่งผลให้ผู้คนเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือเป็นเล่ม มาเป็นการอ่านผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกต่อการพกพาไปที่ต่าง ๆ และมีเนื้อหาที่หลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายตามความสนใจ
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ากลุ่มคาแรคเตอร์ เป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะเริ่มมีนักออกแบบคาแรคเตอร์ชาวไทยที่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักอย่าง Plaplatootoo ซึ่งได้รับไอเดียมาจากปลาทูแม่กลอง และบางรายยังสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศและยังเชื่อมโยงกับธุรกิจ Art Toy ที่กำลังเป็นกระแสนิยม โดยกลุ่มคาแรคเตอร์สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้า Merchandise ประเภทต่าง ๆ ได้อีกด้วย เช่น การสร้างคาแรคเตอร์ของ Butter Bear หรือหมีเนย ที่เป็นจุดเริ่มต้นจากร้านขนมที่สื่อสารผ่านมาสคอตคาแรคเตอร์หมี จนเป็นที่โด่งดังและมีสินค้าที่เป็นตัวแทนของ Butter Bear ออกสู่ตลาดตามมา
นางอรมนกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย แม้จะไม่ได้ดูหวือหวา เหมือนในตลาดต่างประเทศ เพราะยังมีความท้าทายใน 3 ด้าน คือ เงินทุน เพราะการจ้าง Content Creator ที่มีฝีมือ มีค่าตัวที่สูง เครื่องมือที่ใช้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กยังเข้าได้ยาก นักออกแบบคอนเทนต์ของไทยที่มีความสามารถ มักออกไปทำงาน หาประสบการณ์ในต่างประเทศ เพราะไม่มีเวทีที่กว้างพอ และตลาดในประเทศยังเติบโตน้อย ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปต่างประเทศมากกว่า แต่ปัจจุบัน ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ สถาบันการเงินเปิดให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น
“นักธุรกิจและผู้ที่อยู่ในสายงานดิจิทัลคอนเทนต์ จะต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อให้ทันต่อการเติบโตของธุรกิจ และเมื่อเกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตในหลายด้านลดลง ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสมากขึ้น รวมทั้งจะต้องพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีในการผลิต และการใช้ Thai Style ที่จะเป็นจุดแข็งสร้างความแตกต่างบนตลาดโลก สะท้อนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จัก”นางอรมนกล่าว
ข้อมูลนิติบุคคลในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (ณ วันที่ 30 พ.ย.2567) มีจำนวนทั้งหมด 1,071 ราย ทุนจดทะเบียน 4,806 ล้านบาท แบ่งเป็นแอนิเมชัน คาแรคเตอร์ จำนวน 299 ราย ทุนจดทะเบียน 1,464 ล้านบาท เกม จำนวน 257 ราย ทุนจดทะเบียน 1,217 ล้านบาท และ e-Book จำนวน 515 ราย ทุนจดทะเบียน 2,125 ล้านบาท โดยจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมากที่สุด จำนวน 993 ราย หรือ 92% ทุนจดทะเบียน 4,211 ล้านบาท รองลงมาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ จำนวน 74 ราย ทุนจดทะเบียน 61.46 ล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 4 ราย ทุนจดทะเบียน 535 ล้านบาท ส่วนใหญ่จัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ
ด้านการลงทุนจากชาวต่างชาติ มีมูลค่าการลงทุน 834 ล้านบาท แบ่งเป็นแอนิเมชัน คาแรคเตอร์ 272 ล้านบาท เกม 422 ล้านบาท และ e-Book 139 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย 172 ล้านบาท ญี่ปุ่น 146 ล้านบาท และฮ่องกง 117 ล้านบาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง