ส่งออก พ.ย. เพิ่ม 8.2% รวม 11 เดือน โต 5.1% ทั้งปีลุ้นทำนิวไฮทะลุ 3 แสนล้านเหรียญ

img

“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน พ.ย.67 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.2% บวกต่อเนื่อง 5 เดือนติด เหตุส่งออกเพิ่มทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม รวม 11 เดือน มูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.1% คาด ธ.ค.ยังส่งออกได้ดี มีลุ้นยอดรวมส่งออกทั้งปีทำนิวไฮใหม่ 3 แสนล้านเหรียญ โตทะลุเป้า 5.2% ส่วนปี 68 ตั้งเป้า 2-3% แม้จะมีความผันผวนทั้งนโยบายทรัมป์ 2.0 การค้าโลกชะลอตัว ภูมิรัฐศาสตร์ แต่มั่นใจแผนขับเคลื่อนที่ทำไว้เอาอยู่

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ย.2567 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 849,069 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.9% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 867,456 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 18,387.1 ล้านบาท รวม 11 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,695,455 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,032,550 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 337,096 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.7% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 4.1% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 7.7% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนสินค้าที่ลดลง อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ทั้งนี้ 11 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.7%
         
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 9.5% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ทั้งนี้ 11 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.5%



ทางด้านตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี ตลาดหลัก เพิ่ม 8.3% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.5% จีน เพิ่ม 16.9% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 11.2% CLMV เพิ่ม 21.0% ส่วนญี่ปุ่น ลด 3.7% และอาเซียน (5) ลด 1.5% ตลาดรอง เพิ่ม 7.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 18.3% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 1.0% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 1.7% แอฟริกา เพิ่ม 13.8% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 31.8% และสหราชอาณาจักร เพิ่ม 12.0% ส่วนรัสเซียและกลุ่ม CIS ลด 5.3% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 29.0%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน ธ.ค.2567 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่อง หากทำได้ประมาณ 24,300 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับยอด 11 เดือน จะทำให้ทั้งปีส่งออกได้สูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.2% และจะเป็นตัวเลขส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดในปี 2565 ที่ส่งออกได้มูลค่า 287,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น เจาะดูแล้ว พบว่า เป็นการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบประมาณ 70% ซึ่งเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศและส่งออก ไม่มีอะไรน่ากังวล

สำหรับเป้าส่งออกปี 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทูตพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าไว้ที่ 2-3% ซึ่งเป็นเป้าที่ท้าทาย ท่ามกลางมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว ทั้งการเดินทางไปหารือกับสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ.2568 การเตรียมยุทธศาสตร์ส่งออก 10 มาตรการ ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลักดันการส่งออกในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มยอดส่งออก การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ การผลักดันการเจรจา FTA ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค และการทำงานร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ตัวเลข พ.ย.ชัดขึ้น เหลือเดือน ธ.ค.อีกเดือนเดียว มีความเป็นไปได้ที่ปีนี้น่าจะทำตัวเลขได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกท่าน ที่ทำงานร่วมกันมา ส่วนปีหน้า 2-3% เป็นการตั้งตัวเลขที่ท้าทาย เพราะมีปัญหามากมาย ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบสิ่งแวดล้อม นโยบายทรัมป์ 2.0 ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องระวัง และต้องหาทางลดต้นทุน เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการในทันที

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง