​“พาณิชย์”จับมือ 10 หน่วยงาน วางมาตรการสั้น กลาง ยาว จัดการปัญหานอมินีให้สิ้นซาก

img

“พาณิชย์”จับมือ 10 หน่วยงาน วางแนวทางแก้ไขปัญหา “นอมินี” ระยะสั้น กลาง และยาว เริ่มจากใช้อำนาจของทุกหน่วยงานจัดการ สร้างระบบติดตาม คัดกรองกลุ่มเสี่ยง และแก้ไขกฎหมายให้เข้มขึ้น ตั้งเป้ากวาดล้างให้หมดไปจากประเทศ เหตุเข้ามาครอบงำธุรกิจไทย สร้างความเสียหายต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ เผยหากได้ข้อสรุป เตรียมชง “พิชัย” เห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป
         
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ณ ศูนย์ประชุมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เชิญหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การทำงานของคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามฯ จำนวน 10 หน่วยงาน มาประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหานอมินีในประเทศไทยให้หมดไปอย่างยั่งยืน โดยมีข้อสรุปในการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณาเร็ว ๆ นี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
         
โดยข้อสรุปในการทำงานร่วมกันกำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น เห็นผลภายใน 1-3 เดือน เป็นการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างแต่ละหน่วยงานสำหรับสร้างฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อใช้ในการสืบสวน สอบสวน ตรวจสอบหาธุรกิจที่กระทำผิดและเข้าข่ายนอมินี รวมทั้งสร้างการรับรู้แก่ภาคประชาชนว่าภาครัฐให้ความสำคัญพร้อมร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหานอมินี ระยะกลาง ตั้งเป้าหมายภายใน 3-12 เดือน จะพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยติดตามวิเคราะห์และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนอมินีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และในระยะยาว ตั้งเป้าหมายทบทวนกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงให้ทันสมัย ปิดช่องว่างที่ผู้กระทำผิดนำมาใช้ และช่วยทำให้การจับกุมเข้าถึงตัวผู้กระทำผิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะลดปัญหานอมินีในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
         
“ระยะสั้น จะทำทันที คือ จะใช้อำนาจของทุกหน่วยงานในการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนบุคคล หรือธุรกิจที่เสี่ยงเป็นนอมินี และใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินคดี ระยะกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคลที่มีผลต่อการการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (IBAS) เพื่อจับผิดความผิดปกติของนิติบุคคลที่เข้าข่ายนอมินี คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 6 เดือน และระยะยาว จะแก้ไขกฎหมาย อาทิ กฎหมายของ ปปง. เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมาย ปปง. เช่น อาชญากรข้ามชาติได้ จากเดิมที่จะไม่รับจดได้แค่ 2 กรณี คือ บุคคลล้มละลาย และไร้ความสามารถ รวมถึงจะแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ให้มีโทษมากขึ้น เพื่อให้เกรงกลัวกระทำความผิด”นายนภินทรกล่าว
         


นายนภินทรกล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหานอมินีที่เรื้อรังในประเทศไทยให้หมดสิ้นไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน หรือนักลงทุนต่างชาติว่ารัฐบาลไทยไม่เพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและทุกหน่วยงานพร้อมร่วมมือกันแก้ไขปัญหานอมินีอย่างจริงจัง เพราะปัญหาธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าวหรือนอมินีเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในวงกว้าง และมีความท้าทายในการทำงาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงจำเป็นจะต้องจับมือแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสุดความสามารถภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนเองเพื่อให้เกิดความสำเร็จทั้งองค์รวม

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เร่งตรวจสอบนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้เช่าโกดังสินค้า และโลจิสติกส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังได้ลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบธุรกิจตามแผนปฏิบัติการ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดทั้งก่อนและหลังรับจดทะเบียนธุรกิจในนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นนอมินี อาทิ การตรวจสอบหลักฐานทางการเงินของผู้ลงทุนคนไทยที่ลงทุนเองหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าวว่ามีศักยภาพในการลงทุนได้จริง และจัดทำข้อมูลนิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงประจำปี

“รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานอมินีมาก เพราะเป็นกรณีที่ต่างด้าวเข้ามาครอบงำธุรกิจของไทย ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจไทย และทำลายเศรษฐกิจไทย จึงได้ตั้งเป้าหมายให้นอมินีหมดไปจากประเทศ และขอฝากเตือนคนไทยที่เป็นนอมินี ให้เลิกพฤติกรรมนี้ และให้แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลต่าง ๆ กับทางการ และจะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งจะทำให้ความผิดลดลง ส่วนบุคคลที่กำลังได้รับการทาบทามให้เป็นนอมินี ก็ขอให้เลิกคิด เพราะเงินที่ได้ไม่คุ้มค่ากับโทษอาญาที่จะได้รับ”นายนภินทรกล่าว
         
สำหรับ 10 หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมการจัดหางาน กรมการท่องเที่ยว กรมที่ดิน และกรมสรรพากร

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง