สนค.แนะผู้ประกอบการ SME ผู้ประกอบธุรกิจบริการ ใช้ Generative AI ช่วยขับเคลื่อนการทำธุรกิจ เผยประโยชน์เพียบ ทั้งสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่าง โดนใจ ตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือลูกค้า เผยหากนำมาใช้ ธุรกิจมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้ Generative AI สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจกันเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ตามการเขียนป้อนความต้องการหรือคำสั่งของผู้ใช้งาน จึงเป็นโอกาสต่อธุรกิจให้สามารถผลิตคอนเทนต์ที่แตกต่าง หรือน่าสนใจได้อย่างรวดเร็ว และจับกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลายขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ SME ของไทย โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ควรที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ประโยชน์ นำมาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงธุรกิจ เพื่อเสนอบริการแก่ลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ McKinsey ระบุว่า การใช้ Generative AI จะช่วยลดระยะเวลา และลดขั้นตอนในการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแรงงานและบุคลากรในองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า Generative AI จะสร้างมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอยู่ที่ 2.6 ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และตลาดโลกของธุรกิจด้าน Generative AI คาดว่าจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 46.47% ต่อปีในช่วงปี 2567-73
สำหรับธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI โดยสามารถสร้างผลงานออกมาได้หลากหลาย เช่น ข้อความตัวอักษร รูปภาพ เสียง วิดีโอ ตลอดจนการเขียนโค้ด หรือเขียนคำสั่งที่ควบคุมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ โดยหนึ่งใน Generative AI ที่บุคคลรวมถึงภาคธุรกิจรู้จักและนิยมนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คือ ChatGPT ซึ่งเป็นเครื่องมือ AI ที่สามารถโต้ตอบผ่านการป้อนคำสั่งของผู้ใช้งานได้ทันที
ส่วนรูปแบบการใช้งาน Generative AI ที่นิยมในธุรกิจบริการ อาทิ แชทบอท (Chatbot) คือ โปรแกรมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ แชทบอทถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบกลับการสนทนาของผู้ใช้โดยอัตโนมัติแบบทันที (Real-Time) ทั้งในรูปแบบตัวอักษร (Text) หรือเสียง (Speech) แชทบอทสามารถเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจบริการ โดยสามารถตอบกลับการสนทนา หรือคำถามพื้นฐานของลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง
ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Assistant) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อคำสั่งเสียงของมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเสมือนผู้ช่วยในการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
การวิเคราะห์ความรู้สึกลูกค้า (Sentiment Analysis) คือ การใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกลูกค้า ที่แสดงออกผ่านทางข้อความและเสียงว่าลักษณะเนื้อหามีแนวโน้มเป็นเชิงบวก เป็นกลาง หรือเชิงลบ หรือใช้ในการระบุอารมณ์ที่ลึกซึ้ง เช่น ความรัก ความเศร้า หรือความโกรธ โดยเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อความเสียง ข้อความบนโซเชียลมีเดีย รีวิว หรือแบบสอบถาม ซึ่งการวิเคราะห์ความรู้สึกเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เข่น ช่วยประเมินความพึงพอใจของลูกค้าผู้ใช้บริการ
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ธุรกิจบริการสามารถนำ Generative AI มาใช้ในการให้บริการ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย เช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก ที่มีร้านค้าออนไลน์ สามารถใช้แชทบอท และระบบสั่งการด้วยเสียงในการอำนวยความสะดวกลูกค้า โดยช่วยในการตอบคำถาม ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำสินค้าและบริการ และ Generative AI ยังช่วยในด้านการตลาดและการขาย เนื่องจากสามารถใช้เครื่องมือ AI ในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ ๆ ในการประชาสัมพันธ์ หรือช่วยในการคิดกลยุทธ์การส่งเสริมการขายของธุรกิจได้
นอกจากนี้ ธุรกิจห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ สามารถใช้ประโยชน์จาก Generative AI ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และคาดการณ์ความเป็นไปได้ของเส้นทาง เวลา และข้อจำกัดในการขนส่ง เพื่อวางแผนในการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และตรวจสอบสาเหตุของการขนส่งสินค้าที่ล่าช้ากว่ากรอบเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการนำ Generative AI มาใช้แล้ว อาทิ การให้บริการ AI Chatbot (น้องต้นคิด) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นแชทบอทบริการถาม-ตอบข้อมูล คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร
สำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถสนับสนุนการใช้ Generative AI แก่ผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ 1.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านความรู้และการใช้งาน Generative AI แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน 2.กำกับดูแลการใช้งาน Generative AI ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบ
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง