สนค.เผยยอดส่งออกทูน่ากระป๋อง ช่วง 9 เดือน ปี 67 มีมูลค่า 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.73% ขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่บริโภคเพิ่มขึ้น ตะวันออกกลาง และยุโรป กักตุนสินค้าจากความกังวลสงคราม และยังมีความต้องการอาหารสัตว์ที่ทำจากทูน่า แนะจับตาสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบ มาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการส่งออกทูน่ากระป๋อง (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทย ช่วง 9 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.73% คิดเป็นเงินบาทประมาณ 65,984 ล้านบาท โดยการส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค ทั้งอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ออสเตรเลียและโอเชียเนีย และยุโรป โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตะวันออกกลาง ที่กังวลสงคราม ทำให้มีการกักตุนสินค้ามากขึ้น และแอฟริกา ที่ได้รับผลกระทบจากความมั่นคงด้านอาหาร จึงซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงยุโรป ที่ซื้อมากขึ้น จากความไม่แน่นอนระหว่างประเทศและสงครามที่ยืดเยื้อ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน เนื่องจากค่าแรงที่แข่งขันได้ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋องจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้ผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ ทำให้ทูน่ากระป๋องเป็นทางเลือก รวมถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นอาหารเปียกที่ทำจากปลาต่าง ๆ รวมถึงทูน่า
ส่วนในระยะต่อไป อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องจะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อและการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing) และมาตรการด้านแรงงาน (Fair Labor Practice) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง