​“พาณิชย์”ขึ้นทะเบียน GI ใหม่ “ทุเรียนบางนรา” มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่า-เพิ่มรายได้ชุมชน

img

“พาณิชย์”ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “ทุเรียนบางนรา” ที่มีลักษณะเด่น เนื้อละเอียด หวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว เผยเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดนราธิวาส และเป็นลำดับที่ 18 ของทุเรียนที่ได้รับ GI มั่นใจช่วยเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
         
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ ทุเรียนบางนรา เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดนราธิวาส ต่อจากสินค้าปลากุเลาเค็มตากใบ ลองกองตันหยงมัส และข้าวหอมกระดังงานราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ และเป็นสินค้า GI ทุเรียนไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นลำดับที่ 18 ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI มากที่สุด และมั่นใจว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนบางนรา และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
         
สำหรับทุเรียนบางนรา เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี และมูซังคิง ที่มีลักษณะเนื้อค่อนข้างละเอียด เนื้อสีเหลืองหรือสีเหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัวตามสายพันธุ์ ปลูกในแถบพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี และบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอศรีสาคร อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอบาเจาะ



โดยทุเรียนที่ปลูกบริเวณนี้ ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนคุณภาพดี เนื่องด้วยวิถีของเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลแบบผสมผสานและพัฒนาสู่การปลูกทุเรียนเป็นพืชหลัก ต้นทุเรียนจึงได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ประกอบกับความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ คือ ดินดี น้ำดี อากาศดี ตั้งแต่ภูเขาจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำสายบุรี อีกทั้งมีป่าฮาลาบาลาที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “อเมซอนแห่งเอเชีย” โอบล้อมพื้นที่ ทำให้ทุเรียนบางนรามีคุณภาพดี เนื้อละเอียดและค่อนข้างแห้ง เคี้ยวละมุนลิ้น รสชาติหวานมันกลมกล่อม เป็นเอกลักษณ์ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีการนำผลผลิตทุเรียนไปจำหน่ายในงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี จนสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 212 สินค้า มูลค่ากว่า 76,000 ล้านบาทต่อปี และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง