​10 ปีที่รอคอย! “พาณิชย์”เผยสหรัฐฯ ยอมรับไทยคืบหน้าปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศปลดจากบัญชี PWL เหลือแค่ WL

img

(ภาพบนซ้าย) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงานให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยขอให้เข้มงวดการปราบปรามการละเมิด การแก้ปัญหาจดสิทธิบัตรคั่งค้าง (ภาพบนขวา) เป็นภาพการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย (ภาพล่างขวา) เป็นการยื่นสมัครเข้าร่วมพิธีสารมาดริด และ (ภาพล่างซ้าย) เป็นการประกาศวันบังคับใช้พิธีสารมาดริด  

“พาณิชย์”แจ้งข่าวดี สหรัฐฯ ประกาศผลการทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ ปลดออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เหลือแค่ประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) หลังติดอยู่ในบัญชีนี้มานานถึง 10 ปี เผยสหรัฐฯ ยอมรับไทยมีความก้าวหน้าในด้านการคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจน ปราบปรามการละเมิดเข้มงวด และปลดล็อกปัญหาการจดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า มั่นใจส่งผลดีต่อไทย ช่วยดึงดูดการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น
         
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 15 ธ.ค.2560 เวลาประเทศไทย ประมาณ 22.00 น. นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) หลังจากที่ได้จัดให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี ‪2550-2560 ก่อนที่ได้ประกาศทบทวนสถานะของไทยนอกรอบ (Out-of-Cycle Review: OCR) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา
         
โดยในการประกาศผลครั้งนี้ USTR ระบุว่า สหรัฐฯ ตระหนักถึงความก้าวหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญในการพัฒนาด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในระดับสูงภายใต้คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการละเมิดในท้องตลาด ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กรมศุลกากร และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น ดำเนินการอย่างจริงจังจนการละเมิดได้หมดสิ้นไปในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนก.ค.2560 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุมใน 5 ย่านการค้าสำคัญ คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค ตลาดนัดจตุจักร ตลาดโรงเกลือ (จังหวัดสระแก้ว) หาดป่าตอง และหาดกะรน (จังหวัดภูเก็ต)
         
พร้อมกันนี้ USTR เห็นถึงความพยายามของไทยในการแก้ไขข้อกังวลของภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพในการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบ และปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน จนทำให้สามารถลดปริมาณงานค้างสะสมลงไปอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ในประเทศภาคีหลายประเทศ และยังมีเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง เช่น การเสริมสร้างความโปร่งใสโดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประจำ ซึ่งช่วยคลายความกังวลของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องลงไปได้มาก
         
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า การที่ไทยได้รับการปรับสถานะให้ดีขึ้น จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ และยังจะส่งผลดีต่อการพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เพราะทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สหรัฐฯ พิจารณาในการให้สิทธิแก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทย รวมทั้งจะช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่กลไกด้านทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ
         
สำหรับการจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ปี 2534-2536 สหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่จับตามองสูงสุด (PFC) เพราะไทยไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เภสัชภัณฑ์ และอายุการคุ้มครองในไทยเพียง 15 ปี จากนั้นปี 2537 ลดบัญชีมาอยู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เนื่องจากไทยได้แก้กฎหมายสิทธิบัตร โดยเพิ่มการคุ้มครองครอบคลุมผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และเพิ่มอายุการคุ้มครองเป็น 20 ปี ต่อมาในปี 2538-2549 สหรัฐฯ ปรับลดอันดับไทยเหลือเพียงประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) หลังจากที่ไทยออกกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่พอปี 2550 สหรัฐฯ ได้ปรับไทยมาอยู่ที่บัญชี PWL อีกครั้ง เนื่องจากไทยประกาศบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา 7 รายการ เช่น ยารักษาโรคเอดส์ ยารักษาโรคหลอดเลือดแข็งตัว และยารักษามะเร็ง เป็นต้น และอยู่ในบัญชี PWL ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2560 รวมระยะเวลา 10 ปี แต่สหรัฐฯ ได้แจ้งว่าจะทบทวนนอกรอบให้ไทย และในที่สุดก็ปลดไทยออกจากบัญชี PWL มาอยู่ที่ WL 
 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง