​“พาณิชย์”ชี้เป้าส่งออกของเล่นคุณภาพ ของเล่นเพื่อการศึกษา เจาะตลาดอินเดีย

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าผู้ส่งออกขายสินค้าของเล่นคุณภาพสูง ของเล่นเพื่อการศึกษา และของเล่นตอบสนองตลาดเฉพาะ เจาะตลาดอินเดีย เผยเป็นสินค้าที่มีโอกาส แม้อินเดียจะมีนโยบายผลิตของเล่นเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด แนะใช้ช่องทาออนไลน์ในการเปิดตัวสินค้าและเข้าถึงตลาด
         
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.สัญฉวี พัฒนจักร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ อินเดีย ถึงการเติบโตของตลาดของเล่น และโอกาสในการขยายตลาดส่งออกของเล่นไทยเจาะตลาดอินเดีย เพื่อป้อนความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น
         
โดยทูตพาณิชย์รายงานว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดของเล่นในอินเดีย สามารถจำแนกได้ตามประเภทกลุ่มของเล่นในอัตราส่วนเปรียบเทียบต่อปี ดังนี้ 1.ของเล่น Eco-friendly และยั่งยืน เติบโตสูงสุด 30% สะท้อนความนิยมของสินค้าที่รักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอินเดีย 2.ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการศึกษา และของเล่นใช้แบตเตอรี เติบโต 28% และ 25% ตามลำดับ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการของเล่นเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และการตอบสนองของผู้เล่นในวัยเยาว์ และ 3.ของเล่นสำหรับทารก เด็กเล็ก ชุด Montessori เติบโตแบบ 2 หลัก สอดคล้องกับความสำคัญของการศึกษาในวัยเริ่มต้น

สำหรับการนำเข้าของเล่น ระหว่างปีงบประมาณ 2565-2566 อินเดียนำเข้าจากโลก มูลค่า 65.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน 40.82 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 62.2% ของการนำเข้าทั้งหมด โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่ง รองลงมา ได้แก่ ศรีลังกา 7.61 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 11.6% มาเลเซีย 3.90 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 5.9% และไทย อยู่อันดับที่ 7 มูลค่า 2.25 ล้านเหรียญสหรัฐ
         


ทั้งนี้ ตามข้อบังคับว่าด้วยการควบคุมคุณภาพของเล่น พ.ศ.2563 (Toys (Quality Control) Order 2020) กำหนดให้ของเล่นทุกประเภทสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันมาตรฐานอินเดีย (BIS) โดยกรมมาตรฐานอินเดียกำหนดให้ของเล่นทั้งแบบไฟฟ้าและไม่ใช้ไฟฟ้า ต้องติดเครื่องหมาย ISI และห้ามจำหน่ายของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าวในประเทศ การฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา ทั้งจำทั้งปรับ ข้อบังคับนี้จัดทำโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายใน (DPIIT) กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการจำหน่ายของเล่นคุณภาพต่ำในตลาดอินเดีย และอินเดียได้ขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของเล่นเป็น 70% ในปี 2566 เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ
         
น.ส.สุนันทากล่าวว่า แม้อินเดียจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการผลิตของเล่น โดยเฉพาะหลังการดำเนินนโยบาย “Make in India” และ “Aatmanirbhar Bharat” (Self-reliance) แต่ยังคงมีของเล่นบางประเภทที่ผู้ผลิตในประเทศมีข้อจำกัด ได้แก่ 1.ขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ ของเล่นบางกลุ่ม เช่น ของเล่นการศึกษาระดับสูง (STEM toys) หรือของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ซับซ้อน ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า 2.ข้อจำกัดต่อขนาดการผลิตที่เหมาะสมเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ และ 3.การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลาดอินเดีย ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กัอุตสาหกรรมของเล่น
         
อย่างไรก็ตาม ตลาดของเล่นในอินเดียในปี 2567 มีมูลค่าประมาณ 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 12.5% ระหว่างปี 2567-76 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร ความตระหนักรู้ด้านการศึกษา และการขยายตัวของการค้าปลีกออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยที่สนใจในอุตสาหกรรมของเล่นในตลาดศักยภาพของอินเดีย อาจพิจารณาการนำเสนอจำหน่ายของเล่นที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของตลาดอินเดีย (ของเล่นเพื่อการศึกษา ของเล่นแบบยัดไส้ และตุ๊กตาผ้า) การพัฒนาของเล่นที่มีเนื้อหาทางการศึกษาและวัฒนธรรม ด้วยการใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์เพื่อเข้าถึงตลาดอินเดียที่กำลังเติบโต จะทำให้ธุรกิจของเล่นไทยสามารถสร้างแต้มต่อทางการค้าท่ามกลางบริบทสงครามทางการค้าระหว่างประเทศได้

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง