กรมการค้าต่างประเทศลงพื้นที่จังหวัดระยอง พบปะผู้ส่งออกและผู้ประกอบการสวนทุเรียน ชี้แจงแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อในการส่งออกทุเรียนไปจีน เผยสามารถขอหนังสือรับรองได้ทั้งกรอบอาเซียน-จีน และ RCEP พร้อมขึ้นบัญชีเฝ้าระวัง ออกมาตรการเข้ม สกัดนำทุเรียนเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย ระบุยังได้จับมือศุลกากรจีน ร่วมมือกันป้องกันหนังสือรับรองปลอมด้วย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดคณะลงพื้นที่ประชุมหารือและติดตามสถานการณ์ทางการค้ากับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการสวนทุเรียน ที่จังหวัดระยอง เพื่อชี้แจงแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อทางการค้า สำหรับการส่งออกสินค้าทุเรียนไปประเทศจีน เพราะการส่งออกทุเรียนสดไปจีน จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าเหลือ 0% ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน–จีน (ACFTA) และกรอบความตกลง RCEP
ทั้งนี้ ได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิ์ FTA ส่งออกทุเรียนไปจีนทราบว่าจะต้องขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ากับกรมฯ โดยกรอบความตกลง ACFTA ใช้ Form E , กรอบความตกลง RCEP ใช้ Form RCEP และผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) คือ ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) กำกับไปด้วยทุกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผลไม้มาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งในขั้นตอนนี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนผลไม้กับโรงคัดบรรจุกับ GACC เพื่อยืนยันความถูกต้องแหล่งที่มาของผลไม้
นายรณรงค์กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้พบปัญหาว่าสินค้าทุเรียนมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ปลอม เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จึงได้กำหนดมาตรการ และแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรอง Form E โดยกำหนดให้ทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งอยู่ในบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง (Watch List) ของกรมฯ อีกทั้งเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการยื่นขอ Form E โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอ Form E ตามประกาศกรมฯ ได้แก่ ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า วันที่ส่งออก ด่านที่ส่งออกของไทย ประเภทยานพาหนะ และชื่อยานพาหนะ พร้อมให้ผู้ส่งออกแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ์ (หนังสือรับรองกรม) และเอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้าที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้
นอกจากนี้ ได้ตระหนักถึงปัญหาการปลอมแปลงหนังสือรับรองเป็นอย่างมาก จึงได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยการพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือที่เรียกว่า ระบบ DFT SMART Certificate of Origin (DFT SMART C/O) ซึ่งจะช่วยให้การปลอมแปลงหนังสือรับรองทำได้ยากขึ้น และยังได้เร่งแก้ปัญหาโดยการประสานงานกับศุลกากรปลายทางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศุลกากรจีนที่พบปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อระงับหนังสือรับรองปลอม และไม่ให้กระทบการส่งออกของผู้ส่งออกที่ใช้หนังสือรับรองจริง และกรมฯ ยังมีแผนที่จะทำความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบการออกหนังสือรับรองระหว่างกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ปัจจุบันทุเรียนไทยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน โดยปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นปริมาณ 791,787.08 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,097.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นปริมาณ 70,728.81 ตัน เพิ่มขึ้น 224.18% มูลค่า 346.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 228.35% และคาดว่าทั้งปี 2566 ไทยจะมีผลผลิตทุเรียน (ภาคตะวันออก) ออกสู่ตลาดในปริมาณ 782,942 ตัน คาดว่าจะส่งออกได้ 715,990 ตัน คิดเป็น 91.44%
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง