“จุรินทร์”สั่งการกรมการค้าภายในพิจารณากรณีผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจริง ให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ย้ำหากขึ้นแล้ว ต่อไปต้นทุนลด ต้องปรับลดราคาลงมาด้วย “วัฒนศักย์”รับลูก ใช้หลักวิน-วิน โมเดลพิจารณา ผู้ผลิตอยู่ได้ ผู้บริโภคกระทบน้อย พร้อมออกตรวจสอบเข้ม ป้องกันฉวยโอกาส กักตุน หากพบโทษหนัก คุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน และต้องปิดป้ายราคา ไม่ปิด ปรับ 1 หมื่น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอขึ้นราคาจากซองละ 6 บาทเป็น 8 บาท ว่า ได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายในไปดูต้นทุน ซึ่งเข้าใจว่าวิเคราะห์ต้นทุนทั้งหมดเสร็จแล้ว และถ้าจะต้องปรับราคาขึ้น ต้องเป็นไปตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริง ให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคน้อยที่สุด และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องถึงภาวะขาดทุน และหยุดการผลิต หรือส่งออกอย่างเดียว เพราะตลาดต่างประเทศราคาดีกว่า
“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขอปรับราคาเป็นเรื่องจริง อย่างมาม่าเคยปรับราคาเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วครั้งหนึ่ง จากซองละ 5 บาทเป็นซองละ 6 บาท เมื่อปี 2551 ซึ่งล่วงเลยมา 14 ปีแล้ว และได้ขอปรับราคาเข้ามาอีกตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือเกือบ 2 ปีแล้ว แต่กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาต เพราะต้องดูผลกระทบกับภาระของผู้บริโภคด้วย และตอนนี้ขอปรับจากซองละ 6 บาทขึ้นเป็นซองละ 8 บาท ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมากเกินไป ถ้าสูงขนาดนี้จะกระทบผู้บริโภคผู้มีรายได้น้อยมากเกินสมควร แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับกรมการค้าภายในที่จะต้องไปดู”นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ยังได้ให้นโยบายกรมการค้าภายในอีกว่าหากต้องขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และต่อไปต้นทุนปรับลดลงมา จะต้องมีการปรับราคาลงมาด้วย โดยให้ติดตามสถานการณ์ต้นทุนอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ ยอมรับความจริงว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตที่เป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลีและน้ำมันพืช
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การพิจารณาอนุญาตปรับราคาจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะพิจารณาเป็นราย ๆ โดยอยู่บนหลักการวิน-วิน โมเดล ที่ผู้ประกอบการยังคงผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และในขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาต้นทุนอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยังไม่มีการอนุมัติให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กรมฯ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะออกตรวจสอบสถานการณ์การจำหน่ายอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ประกอบการ ห้างร้าน ร้านค้าต่าง ๆ มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรหรือกักตุนสินค้า จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะช่องทางใดต้องแสดงราคาอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง