​กรมเจรจาฯ เจาะลึกตลาดญี่ปุ่นใน RCEP พบลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มอีก 207 รายการ

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละผลประโยชน์ไทยใน RCEP เจาะลึกตลาดญี่ปุ่น พบมีสินค้า 207 รายการ ที่จะมีการลดภาษีเหลือ 0% หลังความตกลงบังคับใช้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ชี้ไทยได้มากกว่า FTA เดิมที่มีอยู่ ทั้ง JTEPA และ AJCEP ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว แนะศึกษากฎถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละความตกลงให้ละเอียด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
         
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เจาะเป็นรายประเทศ ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ชำแหละผลประโยชน์ของไทย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์ล่วงหน้า และล่าสุดได้ทำการศึกษาการลดภาษีของญี่ปุ่นภายใต้ RCEP หลังจากที่รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมความตกลงเมื่อเดือนเม.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่น จะยื่นให้สัตยาบันได้ในเร็วๆ นี้ โดยพบว่า มีสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นลดภาษีเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่กับญี่ปุ่นเดิม ทั้งในกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จำนวนมากถึง 207 รายการ ที่จะมีการลดภาษีเหลือ 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
         
สำหรับสินค้า 207 รายการ ที่จะมีการลดภาษี ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ได้แก่ สินค้าประมง ผลไม้ เช่น ส้ม สับปะรด แป้งจากมันฝรั่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน ผักปรุงแต่ง ผงโกโก้ กาแฟคั่ว ขนมปังกรอบ น้ำส้ม น้ำเกรปฟรุต น้ำผลไม้ผสม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นลดภาษีเพิ่มเติมให้กับสินค้าส่งออกจากไทย โดยใน RCEP ญี่ปุ่นลดภาษีคิดเป็นสัดส่วน 90.4% ของรายการสินค้าทั้งหมด แต่ใน JTEPA ลดภาษี 88.1% และใน AJCEP ลดภาษี 87.1%
         


ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้ความตกลง AJCEP และ JTEPA ญี่ปุ่นเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยในอัตรา 0% อยู่แล้ว ทำให้ในการเจรจา RCEP ญี่ปุ่นจึงเปิดตลาดให้ไทยเท่ากับที่เคยเปิดให้ในความตกลงทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งผู้ส่งออกไทย สามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA กรอบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเกณฑ์สะสมถิ่นกำเนิดที่กำหนดในกรอบ FTA นั้น ๆ โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทยแล้วใน FTA ทั้ง 3 ฉบับ เช่น เครื่องโทรศัพท์ ยานยนต์ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ตู้เย็น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
         
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกไทยในการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ที่ไทยมีกับญี่ปุ่น โดยเผยแพร่ข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่ญี่ปุ่นประกาศเก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยภายใต้ FTA ทั้ง 3 ฉบับ คือ RCEP , JTEPA และ AJCEP ในเว็บไซต์ http://tax.dtn.go.th และขอให้ผู้ส่งออกศึกษาเงื่อนไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ใน FTA ฉบับต่าง ๆ ด้วย เพี่อจะได้เลือกวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตสินค้าที่เหมาะสม และไม่เสียโอกาสการได้สิทธิประโยชน์จากแต้มต่อภาษีภายใต้ FTA โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้าเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าได้ที่ http://www.thailandntr.com
         
ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์ และจีน ได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศที่เหลือ รวมทั้งไทย กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการภายใน โดยล่าสุดรัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมแล้ว ส่วนไทยรัฐสภา ก็ได้เห็นชอบผลการเจรจา RCEP แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนยื่นให้สัตยาบัน คาดว่าภายในเดือนต.ค.2564 นี้ ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบัน ความตกลง RCEP ก็จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 60 วัน ซึ่งได้มีการคาดหมายว่าจะเริ่มบังคับใช้ต้นปี 2565 

ติดตามข่าวสารแบบฉับไว
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
ติดตามข่าวสารผ่าน Twitter
กดคลิก Follow ด้านล่าง