
กรมการค้าต่างประเทศเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบใหม่ภายใต้ความตกลง AANZFTA ที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน เผยมี 3 ระบบที่ทำออกมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทย มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกใช้สิทธิประโยชน์ได้เต็มที่
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้เตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้พิธีสารฉบับที่สองภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–ออสเตรเลีย–นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงข้อบทในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความทันสมัยและสอดรับกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน จากที่ความตกลงฉบับเดิมบังคับใช้มานานกว่า 15 ปี และคาดว่าความตกลงใหม่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ ได้ปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าสำหรับสินค้าบางรายการให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบันมากขึ้น และเพิ่มเติมข้อบทเพื่อรองรับรูปแบบทางการค้าใหม่ ๆ เช่น การอนุญาตให้แบ่งการส่งออก หรือการขายผ่านนายหน้าประเทศที่สามหลายทอด
ขณะที่กรมได้ผลักดันเพิ่มทางเลือกให้ผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตของไทย สามารถใช้วิธีการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-certification by Approved Exporter) นอกเหนือจากการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin – C/O) ในรูปแบบกระดาษ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าเสรียุคใหม่ที่มุ่งเน้นความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระเอกสารให้กับภาคธุรกิจ
ส่วนการดำเนินการรองรับการบังคับใช้ ได้มีการยกร่างประกาศกรม เพื่อกำหนดรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้ครอบคลุมทั้งแบบ C/O และ Self-certification และการปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือระบบตรวจต้นทุน ROVERs Plus 2.ระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือระบบ SMART C/O และ 3.ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต หรือ ระบบ Self-certification ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ AANZFTA ได้อย่างเต็มที่
สำหรับภาพรวมพิธีสารฉบับที่สองของ AANZFTA ถือเป็นความคืบหน้าเชิงยุทธศาสตร์ของไทยในการผลักดันการค้าเสรีในระดับภูมิภาค โดยนอกจากการอำนวยความสะดวกทางการค้าแล้ว ยังครอบคลุมถึงประเด็นใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อบริบทโลกในปัจจุบัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านศุลกากร การนำพิธีสารฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย แต่ยังสะท้อนถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกที่มีความรับผิดชอบและพร้อมขับเคลื่อนการค้าเสรีในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ส่งตรงถึงมือถือ คลิกเลย
กดคลิก Follow ด้านล่าง